พฤติกรรมที่ไม่ดีของน้องเหมียวอาจเป็นการแสดงความคิดถึง

Blecourt

การศึกษาครั้งใหม่ระบุว่า หากเจ้าแมวเหมียวไม่ยอมหยุดฉีกกระดาษชำระ หรือฉี่บนโซฟาของคุณนั่นอาจเป็นผลมาจากความวิตกกังวลที่ต้องแยกกับเจ้าของของพวกมัน

มีการศึกษาจำนวนมากที่สังเกตเห็นปัญหานี้ในสุนัข แต่ยังไม่เคยมีการทำวิจัยในเรื่องนี้กับเจ้าแมวเหมียวเลย อย่างไรก็ตามการศึกษาครั้งล่าสุดพบว่าน้องเหมียวที่ถูกเลี้ยงอยู่ในบ้านจะพัฒนาความผูกพันกับเจ้าของ ซึ่งหมายความว่าแม้แต่เจ้าของที่ตอนนี้ต้องอยู่บ้านเพราะการระบาดของโคโรนาไวรัสก็อาจจะต้องประเมินดูว่าความสัมพันธ์ของตนกับน้องเหมียวเพื่อนยากนั้นเป็นอย่างไรบ้าง หากสังเกตเห็นพฤติกรรมที่ไม่ดีๆ ของพวกมัน

ในการประเมินปัญหาเรื่องความโดดเดี่ยวอ้างว้างของเจ้าเหมียว นักวิจัยให้คนวัยผู้ใหญ่ในประเทศบราซิล จำนวน 130 คน ตอบแบบสอบถามเกี่ยวกับพฤติกรรมของแมวที่พวกเขาเลี้ยง การมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนกับแมว และสภาพความเป็นอยู่ของแมว

13.5% ของแมว 223 ตัวมีพฤติกรรมที่เกิดจากความอ้างว้างอย่างน้อยหนึ่งอย่าง เช่นพฤติกรรมการทำลายข้าวของ หรือซึมเศร้า ทำให้ยากจะเชื่อว่าแมวมีความสุขได้ในเวลาที่อยู่ลำพัง

บางคนเชื่อว่าแมวเป็นสัตว์เลี้ยงที่ไม่สามารถพัฒนาความผูกพันกับเจ้าของหรือผู้ดูแลได้ แต่ Aline Cristina Sant’Anna ศาสตราจารย์ด้านสัตววิทยาที่มหาวิทยาลัย Federal University of Juiz de Fora ในประเทศบราซิลกล่าวว่า การศึกษาครั้งล่าสุดแสดงให้เห็นว่าน้องเหมียวทั้งหลายสามารถสร้างความผูกพันกับเจ้าของของพวกมันได้ นอกจากนี้การศึกษายังแสดงให้เห็นว่าสัตว์เหล่านี้อาจต้องทุกข์ใจเมื่อต้องแยกจากคนที่ผูกพันด้วย

การศึกษาที่ตีพิพม์ในวารสาร PLOS ONE ฉบับเมื่อวันพุธระบุว่า แบบสอบถามที่แจกให้กับบรรดาเจ้าของแมวใช้ข้อมูลจากการวิจัยอาการวิตกกังวลของน้องหมาในเวลาที่ต้องแยกจากเจ้าของครั้งก่อนหน้านี้ โดยจะถามเกี่ยวกับพฤติกรรมและภาษากายที่สัตว์เลี้ยงเหล่านั้นแสดงออกมาเวลาที่เจ้าของไม่อยู่บ้าน

Sant'Anna กล่าวอีกว่าเนื่องจากไม่ได้มีการติดตั้งกล้องเพื่อดูแมว บรรดาเจ้าของจึงตอบคำถามตามคำบอกเล่าของเพื่อนบ้าน หรือสัญลักษณ์ต่างๆ ที่น้องเหมียวทิ้งไว้ในบ้านเช่นอึ ฉี่ หรือข้าวของที่แตกหัก

แมว 30 ตัวจาก 223 ตัว มีพฤติกรรมอย่างน้อยหนึ่งอย่างที่นักวิจัยใช้ระบุว่าเป็นปัญหาที่เกิดจากการที่ต้องอยู่โดยลำพัง แมวเกือบ 67% มีพฤติกรรมทำลายข้าวของ ร้องเสียงดังมากเกินไป อึฉี่ในที่ที่ไม่เหมาะสม มีภาวะซึมเศร้า ก้าวร้าว และวิตกกังวล

แมวที่มีปัญหาเรื่องพฤติกรรมมักจะอาศัยอยู่ในบ้านที่ไม่มีผู้ใหญ่ที่เป็นผู้หญิงเลยหรืออยู่ในบ้านที่มีผู้หญิงที่เป็นผู้ใหญ่มากกว่าหนึ่งคน เพราะเจ้าของที่เป็นผู้หญิงนั้นจะแสดงความรักใคร่มากกว่าเจ้าของผู้ชาย หรืออยู่ในบ้านที่มีเจ้าของอายุ 18 ถึง 35 ปี เป็นสัตว์เลี้ยงตัวเดียวในบ้าน และอยู่ในบ้านที่ไม่มีของเล่น

นอกจากนี้การวิจัยชี้ว่าน้องเหมียวมักจะซึมเศร้าในเวลาที่เจ้าของไม่อยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเจ้าของเหล่านั้นอยู่ในวัยหนุ่มสาวที่ชีวิตยุ่งเหยิง จนลืมไปว่าตัวเองมีสัตว์เลี้ยง

Ingrid Johnson ซึ่งทำงานในโรงพยาบาลแมว Paws, Whiskers & Claws และเป็นเจ้าของธุรกิจรับปรึกษาปัญหาพฤติกรรมแมวที่มีใบรับรองและธุรกิจของเล่นแมว Fundamentally Feline ในมารีเอตตา รัฐจอร์เจีย กล่าวว่า คนหนุ่มสาวเหล่านั้นมีความสุขที่ได้มีสัตว์เลี้ยง แต่พวกเขาต้องออกไปพบปะสังสรรค์ และไปงานเลี้ยง พวกเขาจะเก็บของเสียแมวเพียงอาทิตย์ละสองครั้ง แทนที่จะทำวันละสองครั้ง และมักจะตักอาหารวางทิ้งไว้แล้วก็ออกจากบ้านไป

ในทางกลับกันผู้ใหญ่ที่มีอายุมากกว่าหรือเกษียณแล้วมักจะเลี้ยงสัตว์ได้ดีกว่าเพราะอยู่บ้านบ่อยกว่าและมีระเบียบวินัยในการทำกิจวัตรประจำวันมากกว่า

อย่างไรก็ดี หากน้องเหมียวยังเด็ก มันอาจจะมีความสุขหากมีเพื่อนที่ตัวเท่ากัน แต่เนื่องจากธรรมชาติของแมวจะต้องมีอาณาเขตของตัวเอง ดังนั้นการแนะนำแมวตัวที่สองควรทำอย่างค่อยเป็นค่อยไปและระมัดระวัง มิฉะนั้นการเพิ่มแมวตัวที่สองในบ้านอาจทำให้น้องเหมียวเกิดความวิตกกังวลและมีพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์มากขึ้น

หากน้องเหมียวไม่หยุดอึฉี่เรี่ยราดตามพื้นหรือบนเตียง ก็อาจถึงเวลาแล้วที่จะพาไปพบสัตว์แพทย์ พฤติกรรมบางอย่างอาจจะสร้างความรำคาญให้กับบรรดาเจ้าของ แต่นั่นคือการแสดงถึงความเจ็บปวดของน้องเหมียว และพฤติกรรมเหล่านี้อาจบ่งบอกว่าสัตว์เลี้ยงเหล่านั้นกำลังเผชิญกับปัญหาสุขภาพที่ซุกซ่อนอยู่ภายใน และหากสงสัยว่าน้องเหมียวกำลังเบื่อ การหาของเล่นให้พวกมันก็เป็นทางออกที่ดี

อย่างไรก็ตาม ทาสแมวทั้งหลายควรพยายามทำให้ชีวิตน้องเหมียวดีขึ้นหากจะนำพวกมันออกไปจากที่ที่ควรจะอยู่แล้วไปขังไว้ในบ้านของตัวเอง