งานวิจัยใหม่ในบราซิลระบุ แมวอาจเครียดได้เมื่อต้องแยกจากกับเจ้าของ

A British shorthair kitten gets a kiss from its owner's during a cat show in Bucharest, Romania, Saturday, Sept. 28, 2019. Hundreds of cats competed in an international cat show recently held in the Romanian capital. (AP Photo/Vadim Ghirda)

สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นรายงานว่า แม้จะมีการศึกษามานานแล้วว่าสุนัขจะมีอาการวิตกกังวลเมื่อต้องแยกจากเจ้าของ แต่งานวิจัยชิ้นใหม่ระบุว่า แมวที่เลี้ยงในบ้านก็มีความผูกพันกับเจ้าของเช่นกัน และถึงแม้ช่วงนี้บรรดาทาสแมวทั้งหลายจะอยู่กับบ้านในช่วงการระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่ถ้าแมวของคุณมีพฤติกรรมแปลกๆ คุณก็อาจเริ่มต้องสังเกตแมวของคุณมากขึ้นเช่นกัน

โดยอะลีน คริสติน่า ซันต์ อันนา นักวิจัยด้านสัตววิทยาแห่ง Federal University of Juiz de Fora ในบราซิล กล่าวว่า ผลงานวิจัยล่าสุดแสดงให้เห็นว่า แมวก็มีความผูกพันกับเจ้าของ ซึ่งอาจขัดกับความเชื่อแต่เดิมว่าแมวไม่สามารถพัฒนาความผูกพันกับเจ้าของได้ ยิ่งไปกว่านั้น แมวอาจรู้สึกเจ็บปวดด้วยซ้ำเมื่อต้องจากกับเจ้าของ

ทีมวิจัยได้ส่งแบบสำรวจให้ทาสแมว 130 คนในบราซิล โดยแบบสอบถามได้ถามถึงพฤติกรรมและภาษากายของแมวเมื่อเจ้าของไม่อยู่บ้าน โดยเจ้าของแมวตอบแบบสอบถามจากการถามคนอื่นในบ้าน เพื่อนบ้าน หรือร่องรอยที่แมวทิ้งไว้เช่น สิ่งปฏิกูลหรือข้าวของที่เสียหาย

โดยจากแมวทั้งหมด 223 ตัวนั้น มีแมว 30 ตัว ที่มีปัญหาอย่างน้อยหนึ่งอย่างเมื่อต้องแยกกับเจ้าของ และเกือบ 67% ของแมว 30 ตัวนี้ มีพฤติกรรมทำลายข้าวของ หรือแสดงพฤติกรรมอื่นๆ เช่น ร้องมากเกินปกติ ถ่ายปัสสาวะไม่เป็นที่ มีอาการเครียด ก้าวร้าว อยู่ไม่สุข และถ่ายหนักไม่เป็นที่

แมวที่แสดงพฤติกรรมดังกล่าวยังมักถูกเลี้ยงในบ้านที่ไม่มีผู้ใหญ่เพศหญิงเลย หรือมีผู้ใหญ่เพศหญิงมากกว่าหนึ่งคน โดยอินกริด จอห์นสัน ที่ปรึกษาด้านพฤติกรรมแมวที่มีประสบการณ์กว่า 20 ปี ระบุว่า เจ้าของแมวที่เป็นผู้หญิงมักมีอาการ “คลั่งไคล้หลงใหล” แมวมากกว่า

จอห์นสันยังกล่าวด้วยว่า แมวอาจจะรู้สึกทุกข์หากเจ้าของแมวเป็นผู้ใหญ่ตอนต้นวัย 18- 35 ปี ที่มักมีตารางชีวิตที่แน่น ยุ่ง ชอบเที่ยว กลับบ้านดึก ไม่ค่อยอยู่บ้านกับแมว โดยอาจจะดูแลแมวเพียงแค่เก็บสิ่งปฏิกูล ทิ้งอาหารไว้ให้ แล้วก็ออกจากบ้าน ในทางตรงกันข้าม ผู้ใหญ่ตอนปลายหรือคนที่เกษียณแล้วจะเป็นเจ้าของแมวที่ดีกว่า เพราะอยู่บ้านมากกว่าและมีตารางชีวิตที่แน่นอนกว่า

อย่างไรก็ตาม จอห์นสันแนะนำว่า เจ้าของแมวควรสังเกตว่าอาการดังกล่าวของแมว เกิดจากความวิตกกังวลเมื่อต้องแยกกับเจ้าของจริงๆ หรือเป็นเพียงอาการ “เบื่อ” หรือ “หงุดหงิด” ของแมว ซึ่งเจ้าของแมวก็อาจทำให้แมวหงุดหงิดโดยไม่รู้ตัวได้ เช่นอาจให้อาหารแมวทิ้งไว้แล้วออกจากบ้าน ซึ่งแมวต้องการทานอาหารมื้อย่อยๆ วันละ 9-16 มื้อ การเทอาหารให้แมววันละไม่กี่ครั้งอาจทำให้แมวกระวนกระวายเพราะไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะได้ทานอาหารมื้อต่อไปอีก และอาจบุกตู้กับข้าวในครัว ตะกุยกระดาษชำระได้

จอห์นสันกล่าวต่อว่า หากคุณสงสัยว่าแมวมีอาการเบื่อ คุณอาจจะเตรียมของเล่นที่ซ่อนอาหารแมวเอาไว้ ให้แมวได้ “เล่นเกม”ก่อนถึงจะได้ทานอาหาร ซึ่งช่วยแก้เบื่อให้แมวได้ ทำให้แมวรู้สึกมีอะไรทำ มีอะไรให้เล่น แล้วพอเล่เสร็จก็จะได้รับอาหารเป็นของตอบแทน

อีกวิธีที่จะช่วยแก้เบื่อให้แมวได้ คือ หาของเล่นให้แมว เช่น หมอนกัญชาแมว ลูกบอล ตุ๊กตา หรือกระดาษขยำเป็นก้อน โดยวางของเล่นให้กระจายบนพื้นเพื่อให้แมวเขี่ยเล่นตัวเดียวได้เวลาที่เจ้าของไม่อยู่บ้าน

ของเล่นอีกอย่างที่ใช้เล่นกับแมวได้ก็คือ “ไม้ตกแมว” ที่มีลักษณะคล้ายเบ็ดตกปลา และมีขนนกหรือตุ๊กตาหนูติดอยู่ตรงปลายเบ็ดเพื่อใช้ล่อแมว ซึ่งของเล่นลักษณะนี้จะช่วยกระชับความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าของแมวและแมวได้ โดยจอห์นสันแนะนำว่า เจ้าของควรเล่นกับแมวในช่วงเวลาก่อนอาหาร เพื่อให้สอดคล้องกับวงจรชีวิตโดยธรรมชาติของแมวในการล่าเหยื่อ กิน เลียขนแล้วก็นอน

นอกจากนั้น การหาที่ให้แมวปีนป่าย หรือขึ้นไปหลบพักได้อย่างเช่นคอนโดแมว ก็ทำให้แมวรู้สึกปลอดภัยตามสัญชาตญานเดิมของแมวได้เช่นกัน