วิกฤติขาดแคลนน้ำเมืองเคปทาวน์ "เดย์ ซีโร่" เน้นย้ำความเหลื่อมล้ำทางสังคม

A family negotiates their way through caked mud around a dried up section of the Theewaterskloof dam near Cape Town, South Africa, Jan. 20, 2018.

Your browser doesn’t support HTML5

วิกฤติการณ์น้ำที่เมืองเคปทาวน์กับปัญหาความไม่เท่าเทียม

วิกฤติการณ์ความแห้งแล้งและปัญหาขาดแคลนน้ำในเมืองเคปทาวน์ในอาฟริกาใต้ ดำเนินต่อเนื่องมาแล้วถึง 3 ปี โดยทางการเมืองเคปทาวน์มีแผนจะปิดการจ่ายน้ำประปาให้กับประชาชน หรือที่เรียกว่า Day Zero เร็วๆ นี้ หลังจากเลื่อนมาแล้วสองครั้ง

ล่าสุด เจ้าหน้าที่ระบุว่า Day Zero อาจมาถึงในวันที่ 9 กรกฎาคม อย่างไรก็ตาม ทางเจ้าหน้าที่ได้พยายามใช้มาตรการหลายอย่างในการควบคุมการใช้น้ำ เพื่อไม่ให้ต้องเกิด Day Zero ขึ้นจริงๆ

คุณเวลากาซี รันกานา หนึ่งในพลเมืองของเมืองเคปทาวน์ กล่าวว่า เธอค่อนข้างแปลกใจว่าทำไมชาวเมืองจำนวนมากจึงเดือดร้อนและโกรธแค้นกับมาตรการใหม่นี้ เพราะเท่าที่จำความได้ น้ำคือสิ่งมีค่ายิ่งสำหรับเธอ และเธอใช้มันอย่างประหยัดที่สุดมาโดยตลอด

เธอบอกว่าไม่เคยอาบน้ำจากฝักบัวเลยตลอด 53 ปีที่ผ่านมา เพราะว่าบ้านที่เธออาศัยซึ่งรัฐบาลเป็นผู้จัดหานั้น ไม่มีห้องน้ำส่วนตัว ทุกคนต้องอาบน้ำรวมกันโดยผลัดกันตักน้ำจากถังน้ำขนาดเพียง 8 ลิตรเท่านั้น นอกจากนี้ยังไม่มีเครื่องซักผ้า เครื่องล้างจาน หรือสระว่ายน้ำ เหมือนอย่างบ้านคนรวยในเมืองนี้

People line up to collect water from a spring in the Newlands suburb as fears over the city's water crisis grow in Cape Town, South Africa, Jan. 25, 2018.

ประชาชนส่วนใหญ่ในชุมชนยากจนในเมืองเคปทาวน์ใช้น้ำโดยเฉลี่ยคนละ 50 ลิตรต่อวัน ซึ่งเป็นตัวเลขที่ทางการตั้งเป้าไว้ เพื่อหลีกเลี่ยง "Day Zero" หรือวันที่น้ำประปาจะถูกปิดทั่วเมือง และขณะนี้ทางการได้ตั้งจุดแจกน้ำไว้ทั่วเมือง เพื่อให้ประชาชนเข้าแถวรับน้ำที่มีปริมาณจำกัด

คุณรันกานาบอกว่า คนที่ร่ำรวยคือคนที่เดือดร้อนจากมาตรการควบคุมน้ำ เพราะคนยากจนไม่เคยใช้น้ำเปลืองอยู่แล้ว

ขณะเดียวกัน นักวิทยาศาสตร์กำลังศึกษาหาสาเหตุของความแห้งแล้งที่เมืองเคปทาวน์ โดยเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกคือสาเหตุหลัก รวมทั้งการที่เมืองแห่งนี้พึ่งพาน้ำฝนและน้ำจากเขื่อนมากเกินไป ทำให้ขาดระบบชลประทานที่ดี

อาจารย์ปีเตอร์ วอลสกี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำแห่งมหาวิทยาลัยเคปทาวน์ กล่าวว่า การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของประชากรเคปทาวน์ ที่ขยายตัวถึง 30% ในช่วง 18 ปีมานี้ ทำให้ความต้องการน้ำเพิ่มขึ้นอย่างมากเช่นกัน ขณะที่ประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำไม่ได้เพิ่มขึ้นตามไปด้วย