เฉื่อยชาพามะเร็ง! ผลวิจัยชี้การเคลื่อนไหวร่างกายช่วยลดความเสี่ยงโรคมะเร็ง

Your browser doesn’t support HTML5

Cancer and Movement

ศูนย์มะเร็ง MD Anderson ที่มหาวิทยาลัยแห่งรัฐเท็กซัส ติดตามศึกษากลุ่มตัวอย่างราว 8,000 คน ในช่วงเวลาตั้งแต่ปี 2552 ถึง 2556 โดยให้คนกลุ่มนี้พกอุปกรณ์เพื่อติดตามความเคลื่อนไหวของร่างกายอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ตื่นอยู่

โครงการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาซึ่งทำกับคนอเมริกันที่มีอายุเกิน 45 ปีจำนวนกว่า 30,000 คน โดยเฉพาะที่เป็นคนอเมริกันผิวดำและที่อยู่ในรัฐทางใต้ เพื่อหาคำตอบว่าเหตุใดคนกลุ่มนี้จึงมีอัตราเส้นเลือดในสมองอุดตัน ซึ่งเป็นสาเหตุของการสูญเสียความจำ หรือทำให้เป็นโรคหลงลืมมากกว่าคนกลุ่มอื่น

ผลการศึกษาหลังจากที่ติดตามเก็บข้อมูลเป็นเวลาห้าปี ได้พบว่า กลุ่มคนที่มีพฤติกรรมเฉื่อยชา คือชอบอยู่นิ่ง ๆ โดยไม่เคลื่อนไหวร่างกายนั้น มีอัตราการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งสูงกว่าคนกลุ่มอื่นถึง 82% ทั้งนี้เมื่อพิจารณาตัดตัวแปรอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น อายุ เพศ หรือสถานะโรคประจำตัวออกไปแล้ว

และกลุ่มตัวอย่างที่ว่านี้ก็ไม่เคยมีใครเป็นมะเร็งมาก่อนเลยก่อนเริ่มการวิจัย

แพทย์หญิงซูซาน กิลคริสต์ หัวหน้านักวิจัยของศูนย์มะเร็งที่มหาวิทยาลัยแห่งรัฐเท็กซัสบอกว่า การศึกษานี้นับเป็นครั้งแรกที่บ่งชี้ความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดระหว่างการไม่เคลื่อนไหวร่างกายกับการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง และว่า การค้นพบความสัมพันธ์ที่ว่านี้ช่วยเน้นย้ำถึงความจำเป็นของการนั่งอยู่กับที่ให้น้อยลง และเคลื่อนไหวร่างกายให้มากขึ้น

โดยแพทย์หญิงซูซาน กิลคริสต์ แนะว่า การนั่งให้น้อยลงอย่างน้อยวันละ 30 นาที และหันไปทำกิจกรรมเบา ๆ หรือกิจกรรมระดับปานกลาง เช่น การเดิน จะสามารถลดความเสี่ยงของมะเร็งลงได้ถึง 8%

ก่อนหน้านี้ก็มีผลการศึกษาที่แสดงแล้วว่า กว่า 50% ของการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งนั้นอาจป้องกันได้จากการเลือกรูปแบบการใช้ชีวิตที่เหมาะสม อย่างเช่น ทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกาย และไม่สูบบุหรี่ แต่ครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่ผลการศึกษาสามารถยืนยันได้ด้วยอุปกรณ์ที่ช่วยรายงานการเคลื่อนไหวซึ่งติดอยู่กับร่างกายของกลุ่มทดลอง แทนที่จะให้สมาชิกกลุ่มทดลองรายงานข้อมูลจากความจำของตัวเอง

และขณะที่แพทย์หญิงซูซาน กิลคริสต์ แนะว่า การเปลี่ยนอิริยาบถ อย่างเช่น ลุกขึ้นยืนหรือเดินราว 5 นาทีในทุก ๆ ชั่วโมง หรือการเคลื่อนไหวร่างกายแบบเบา ๆ เช่น การเดินวันละ 30 นาที จะช่วยลดความเสี่ยงของมะเร็งลงได้ราว 8% นั้น แต่กิจกรรมการเคลื่อนไหวร่างกายระดับปานกลางถึงระดับเข้มข้น เช่น การถีบจักรยานด้วยความเร็วราว 16 กิโลเมตรต่อชั่วโมง การเดินเร็ว ๆ การเคลื่อนไหวแบบแอโรบิกในน้ำ ไปจนถึงการเต้นรำในจังหวะบอลรูม หรือ การเล่นเทนนิส จะช่วยลดความเสี่ยงของการเสียชีวิตจากมะเร็งลงได้ถึง 31% เช่นกัน

และจากข้อมูลดังกล่าว หัวหน้านักวิจัยของศูนย์มะเร็งที่มหาวิทยาลัยแห่งรัฐเท็กซัสก็บอกว่า ขั้นต่อไปคือการศึกษาเพื่อพยายามหาคำตอบว่า การเคลื่อนไหวหรือไม่เคลื่อนไหวร่างกายจะมีผลโดยเฉพาะเจาะจงต่อมะเร็งที่อวัยวะส่วนใด รวมทั้งเพศและเชื้อชาติ จะมีส่วนกำหนดเรื่องนี้ด้วยหรือไม่เช่นกัน