ผู้ลี้ภัยกัมพูชา ”ไม่รู้สึกปลอดภัย” ในประเทศไทย

FILE - In this photo provided by An Khoun Sam Aun/Ministry of Information of Cambodia, Cambodian Prime Minister Hun Sen is seen during an online opening session of the Asia-Europe Meeting (ASEM) in Phnom Penh, Cambodia, Nov. 25, 2021.

นักการเมืองกัมพูชาผู้ลี้ภัยทางการเมืองอยู่ในประเทศไทยกล่าวว่าพวกตนต้องใช้ชีวิตอย่างหลบๆ ซ่อนๆ และด้วยความหวาดกลัวหลังจากที่เมื่อเดือนพฤศจิกายนรัฐบาลไทยได้จับกุมผู้ลี้ภัยจากกัมพูชาห้าคนซึ่งได้รับความคุ้มครองจาก UNHCR และส่งตัวสี่คนกลับประเทศ เป็นผลให้คนเหล่านี้ถูกรัฐบาลกัมพูชาควบคุมตัวตามหมายจับที่มีอยู่โดยทันที ศูนย์ชื่อ Center for Asylum Protection ในประเทศไทยซึ่งทำงานด้านสิทธิของผู้ลี้ภัยและให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายระบุว่าหลังจากที่ไทยทำข้อตกลงกับกัมพูชาเพื่อแลกเปลี่ยน “ผู้หลบหนีคดีชาวต่างชาติ” เมื่อปี 2018 เป็นต้นมา รัฐบาลไทยได้ส่งตัวผู้ลี้ภัยทางการเมืองกลับคืนให้กับกัมพูชาอย่างรวดเร็ว ผู้ลี้ภัยทางการเมืองคนหนึ่งคือนายนริศที่ไม่ยอมเปิดเผยนามสกุล อดีตสมาชิกของพรรคฝ่ายค้าน CNRP ของกัมพูชาซึ่งถูกคำสั่งศาลยุบเลิกไปกล่าวกับผู้สื่อข่าววีโอเอทางโทรศัพท์จากสถานที่ๆ ไม่เปิดเผยในประเทศไทยว่าขณะนี้ตนไม่รู้สึกปลอดภัยเลยจากเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นและได้เปลี่ยนที่อยู่มาแล้วสามครั้งตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน โดยนายนริศได้หลบหนีจากกัมพูชามายังประเทศไทยเมื่อปีที่แล้ว ในปี 2017 ศาลฎีกาของกัมพูชามีคำสั่งยุบพรรค CNRP ในข้อหาว่าวางแผนล้มล้างรัฐบาล แต่ผู้ติดตามการเมืองหลายคนทั้งในและนอกประเทศเชื่อว่าคำตัดสินของศาลดังกล่าวมีเหตุผลจูงใจทางการเมือง โดยคำสั่งยุบพรรคการเมืองที่ว่านี้มีขึ้นขณะที่รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีฮุน เซ็น กำลังเร่งปราบปรามและจัดการกับกลุ่มผู้ใช้แรงงาน กลุ่มด้านสิทธิมนุษยชน สื่อมวลชนอิสระ รวมทั้งนักการเมืองฝ่ายค้านด้วย นายนริศบอกกับวีโอเอด้วยว่าขณะนี้มีสมาชิกของพรรค CNRP หลบซ่อนตัวอยู่ในประเทศไทยกว่า 60 คนหลังจากที่หนีออกมาจากกัมพูชาในช่วงสามปีที่ผ่านมา และว่าหากตนหรือสมาชิกคนอื่นของพรรคถูกทางการไทยส่งตัวกลับประเทศแล้วก็เชื่อว่าจะต้องถูกรัฐบาลกัมพูชาจับกุมและคุมขังอย่างแน่นอน และว่าในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมานี้มีผู้ลี้ภัยทางการเมืองของกัมพูชาหลายคนต้องเปลี่ยนที่อยู่หลายครั้ง ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม งดการใช้โทรศัพท์และสื่อสังคม รวมทั้งพยายามไม่ออกนอกบ้านด้วย นอกจากนั้นบุคคลเหล่านี้ยังบอกกับวีโอเอด้วยว่าพวกตนเชื่อว่ากำลังถูกเจ้าหน้าที่ของไทยเฝ้าติดตามและถ่ายภาพ นายนริศเปิดเผยว่าผู้ลี้ภัยทางการเมืองจากกัมพูชาส่วนใหญ่ข้ามพรมแดนเข้ามายังประเทศไทยอย่างผิดกฎหมายและเกือบทุกคนได้ขึ้นทะเบียนขอความคุ้มครองจาก UNHCR และได้รับการยอมรับจากหน่วยงานของสหประชาชาติในฐานะผู้ลี้ภัยแล้ว ซึ่งเจ้าหน้าที่คุ้มครองของ Center for Asylum Protection ก็บอกกับวีโอเอว่าในฐานะผู้ลี้ภัยอย่างน้อยประเทศไทยจะต้องคุ้มครองและไม่บังคับส่งตัวคนเหล่านี้กลับประเทศ ขณะนี้ประเทศไทยไม่ได้ร่วมลงนามในอนุสัญญาเรื่องผู้ลี้ภัยของสหประชาชาติ แต่ UNHCR ก็ชี้ว่าประเทศไทยยังคงมีพันธะผูกพันตามกฏหมายระหว่างประเทศเรื่องการไม่บังคับส่งตัวผู้ลี้ภัยกลับไปยังประเทศต้นทางที่จะมีโอกาสถูกข่มเหงรังควานหรือถูกดำเนินคดีได้ และ Catherine Stubberfield โฆษกของ UNHCR ประจำสำนักงานภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกก็บอกกับวีโอเอว่าทาง UNHCR ได้แสดงความกังวลเรื่องนี้ต่อทางการไทยและเรียกร้องให้ไทยละเว้นการบังคับส่งตัวกลับผู้ลี้ภัยซึ่งได้รับการรับรองฐานะ รวมทั้งควรปฏิบัติตามพันธะสัญญาระหว่างประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับหลักการเรื่องการไม่บังคับส่งตัวกลับด้วย เมื่อเดือนที่แล้ว Human Right Watch มีคำแถลงว่าการที่รัฐบาลไทยบังคับส่งตัวกลับผู้ลี้ภัยทางการเมืองชาวกัมพูชาสี่คนถือได้ว่าเป็นการละเลยต่อหลักการเรื่องนี้อย่างโจ่งแจ้งและชัดเจน ทางด้านรัฐบาลไทยนั้น นายธานี แสงรัตน์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศไม่ได้ตอบคำถามผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับการจับกุมและการส่งตัวกลับผู้ลี้ภัยทางการเมืองชาวกัมพูชาสี่คนเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ที่มา: VOA