ตร. กัมพูชาส่งรายงานสืบสวนกรณีลักพาตัว ‘วันเฉลิม’ ให้ศาลแล้ว

ภาพของวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ถือโดยผู้ชุมนุมที่หน้าสถานทูตกัมพูชา ประจำกรุงเทพฯ เมื่อ 8 มิถุนายน 2563 (ที่มา: AP)

ทางการกัมพูชาเผย ตำรวจสืบสวนสอบสวนกรณีการลักพาตัววันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ลี้ภัยทางการเมืองชาวไทยในกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา เมื่อปี 2563 เสร็จสิ้น และส่งต่อให้ศาลพิจารณาแล้ว ขณะที่ญาติที่ประเทศไทยและทนายยังไม่ได้รับข่าวคราวความคืบหน้าใด ๆ ในเรื่องนี้

เมื่อ 27 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เขียว โสเพียก โฆษกกระทรวงกิจการภายในของกัมพูชากล่าวกับวีโอเอภาคภาษาเขมรว่า ตำรวจได้ปิดการสืบสวนสอบสวนและส่งเรื่องต่อให้กับศาลแขวงพนมเปญแล้ว โดยอธิบายว่าเจ้าหน้าที่ไม่พบหลักฐานที่ยืนยันได้ว่าวันเฉลิมอยู่ในที่เกิดเหตุ

โสเพียกกล่าวว่า “เราไม่เจอชื่อของเขาในเอกสาร [ที่ได้รับจากเจ้าของคอนโดมิเนียม]” และกล่าวด้วยว่า “เราได้ส่งรายงานให้กับศาลแล้ว และการสืบสวนก็เสร็จสิ้นแล้ว”

วีโอเอภาคภาษาเขมรติดต่อไปยัง อี ริน โฆษกศาลแขวงพนมเปญ และไชย คิมเขื่อน โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติกัมพูชาเพื่อขอความเห็น แต่ไม่ได้รับการตอบกลับ

ตามกระบวนการของกัมพูชา ศาลจะเป็นผู้ให้ความเห็นว่าจะดำเนินการทางคดีอย่างไรต่อไป รวมถึงสามารถสั่งให้ตำรวจกลับไปทำการสืบสวนสอบสวนเพิ่มเติมอีกครั้ง

วันเฉลิมเป็นนักกิจกรรมทางด้านสังคมและการเมือง และเคยทำงานกับนักการเมืองสังกัดของพรรคเพื่อไทย เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2563 เขาถูกกลุ่มคนไม่ทราบชื่อและสังกัด ลักพาตัวเขาไปจากหน้าอาคารแม่โขง การ์เดน ในกรุงพนมเปญ ซึ่งเป็นสถานที่ที่เขาอาศัยขณะหลบหนีการติดตามจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนเมื่อปี 2557

ในช่วงปลายปีเดียวกัน สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ พี่สาวของวันเฉลิม และทีมนักกฎหมาย ได้เดินทางไปยังศาลกรุงพนมเปญเพื่อส่งมอบหลักฐานต่าง ๆ ที่บ่งชี้ว่าวันเฉลิมได้อยู่อาศัยในกัมพูชา และถูกลักพาตัวในกรุงพนมเปญจริง

พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ที่ช่วยเหลือสิตานันติดตามกรณีของวันเฉลิม กล่าวกับวีโอเอภาคภาษาเขมรทางอีเมล์ว่า ทีมกฎหมายไม่เคยได้รับความคืบหน้าใด ๆ จากศาลหรือตำรวจกัมพูชาเลยนับตั้งแต่กลับจากกัมพูชาเมื่อปี 2563

ทั้งนี้ การรายงานของวีโอเอเมื่อปี 2563 อ้างอิงข้อมูลของพยานในเหตุการณ์ ระบุว่าวันเฉลิมใช้ชีวิตอยู่ที่กัมพูชา และอาศัยอยู่ที่อาคารแม่โขง การ์เดน นอกจากนั้น การรายงานข่าวของประชาไทในปีเดียวกันยังบ่งชี้ว่าเขามีพาสปอร์ตกัมพูชาที่ใช้ชื่อว่า ซก เฮง (Sok Heng) ซึ่งเป็นหนึ่งในหลักฐานที่สิตานันยื่นให้กับศาลแขวงพนมเปญ

เสียงเรียกร้องถึงหน่วยงานรัฐ

เมื่อ 20 กุมภาพันธ์ ที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ผู้แทนจากกัมพูชาได้ชี้แจงต่อที่ประชุมคณะกรรมการว่าด้วยการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ องค์การสหประชาชาติ โดยระบุว่ากรณีของวันเฉลิมอยู่ในการดูแลของผู้พิพากษาสอบสวน (investigating judge) ซึ่งถือเป็นความลับ และยืนยันว่าเจ้าหน้าที่กัมพูชาไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ดังกล่าว

สุนัย ผาสุก ที่ปรึกษาองค์กร ฮิวแมนไรท์วอทช์ (Human Rights Watch - HRW) กล่าวกับวีโอเอไทยว่า การชี้แจงของกัมพูชาในเวทีสหประชาชาติ ไม่ถือเป็นสัญญาณเชิงบวก และเรียกร้องให้รัฐบาลไทยใช้ประโยชน์จากความสนิทสนมกับรัฐบาลกัมพูชาในการติดตามพลเมืองไทยที่หายตัวไป

“ตอนนี้เหมือนจะเป็นการเปลี่ยนแทกติกมากกว่า จากในตอนแรกที่ปฏิเสธว่า ไม่รับรู้ว่าวันเฉลิมเคยอยู่ในกัมพูชา ตอนนี้เปลี่ยนแทกติกว่า วันเฉลิมอยู่จริง แต่ถูกเอาตัวไปโดยใครก็ไม่รู้ ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ เพราะฉะนั้นความรับผิดชอบของกัมพูชาภายใต้อนุสัญญาต่อต้านการบังคับสูญหาย ก็ไม่เกี่ยว”

“ถ้าหากเราดูถึงความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างไทยกับกัมพูชา มันควรเป็นผลดีกับครอบครัวของวันเฉลิมด้วยซ้ำ ว่ารัฐบาลที่สนิทสนมกันมากขนาดนี้ทั้งในระดับทางการและช่องทางส่วนตัว น่าจะพูดอะไรกันได้อย่างตรงไปตรงมา” สุนัยกล่าว

แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และลูกสาวของทักษิณ ชินวัตร มีกำหนดการไปเยือนกัมพูชาในวันที่ 18-19 มีนาคม ตามคำเชิญของฮุน เซน อดีตนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ที่มีขึ้นหลังเดินทางเข้าเยี่ยมทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ของไทยที่บ้านจันทร์ส่องหล้าเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ (ขวา) กับรูปของวันเฉลิม หลังไม่สามารถเข้าพบฮุน เซน ได้ เมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2567

ด้านสิตานัน ที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจสกัดไม่ให้เข้าสอบถามความคืบหน้ากับฮุน เซน ในวันดังกล่าวด้วยเหตุผลด้านการรักษาความปลอดภัย ยังคงรอคอยที่จะทราบชะตากรรมของน้องชาย

“มันผ่านไปสี่ปีแล้ว เราก็อยากให้เขาบอกญาติ ว่ามันเกิดอะไรขึ้น แล้วสืบสวนสอบสวนไปถึงไหน มันไม่ควรจะเป็นความลับแล้วไหม” สิตานันกล่าว

เมื่อ 27 กุมภาพันธ์ ดนุพร ปุณณกันต์ โฆษกพรรคเพื่อไทย ตอบคำถามผู้สื่อข่าวที่ถามว่า การไปเยือนกัมพูชาของหัวหน้าพรรคเพื่อไทยจะมีการพูดถึงกรณีของวันเฉลิมหรือไม่ โดยตอบว่า คงเป็นการพูดคุยเรื่องเศรษฐกิจสังคม มากกว่าที่จะหยิบยกเรื่องส่วนตัวของใครขึ้นมา

“แต่แน่นอน ถ้าเรื่องนี้สังคมให้ความสนใจ ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่กรรมการบริหารพรรคจะนำไปประชุมกันก่อนที่ท่านหัวหน้าพรรคจะเดินทางไปประชุม” ดนุพรกล่าว

ต่อคำแถลงดังกล่าว สิตานันกล่าวกับวีโอเอไทยว่า “อย่าลืมว่าต้าร์ (ชื่อเล่นของวันเฉลิม) เป็นคนไทย ไม่ต้องมองในแง่ของการเมือง”

คนการเมือง-ผู้ลี้ภัย

วันเฉลิมเป็นหนึ่งในผู้ลี้ภัยจำนวน 9 ราย ที่สูญหายขณะลี้ภัยจากคดีทางการเมืองในประเทศเพื่อนบ้าน นับตั้งแต่การรัฐประหารในปี 2557 โดยมีการยืนยันการเสียชีวิตด้วยการพบศพจำนวน 2 รายที่แม่น้ำโขง ส่วนที่เหลือยังไม่ทราบชะตากรรมอย่างเป็นทางการ

ที่ผ่านมาหน่วยงานรัฐในไทยได้รับคำร้อง หลักฐาน และข้อมูลจากญาติไปดำเนินการและประสานงานกับกัมพูชา แต่ยังไม่ปรากฏรายงานความคืบหน้าที่จะสะสางข้อเท็จจริงว่าใครเป็นผู้กระทำความผิด และปัจจุบันวันเฉลิมมีชะตากรรมอย่างไร

ณัฏฐิกา วรธันยวิชญ์ ผู้ลี้ภัยทางการเมือง ปัจจุบันอาศัยอยู่ที่รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐฯ เล่าว่า วันเฉลิมทำงานกับปีกเยาวชนของพรรคเพื่อไทย และเคยทำปฏิบัติการด้านข้อมูลข่าวสาร เพื่อรับมือกระแสการชุมนุมของกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ซึ่งเธอก็ได้ร่วมงานกับวันเฉลิมด้วย

เธอกล่าวว่า เป็นเรื่องหดหู่ที่เห็นญาติของผู้ถูกลักพาตัวถูกจำกัดสิทธิ และไม่สามารถเรียกร้องความยุติธรรมได้

“ปกติเวลาเรารู้ว่าใครสูญเสียคนในครอบครัว เราก็จะแสดงความเสียใจ แต่ในกรณีของพี่เจน (ชื่อเล่นของสิตานัน) มันหนักหนากว่านั้นอีก แกสูญเสียน้องไป แล้วยังเรียกร้องความยุติธรรมอะไรให้น้องไม่ได้เลย” ณัฏฐิกากล่าว

สัมภาษณ์แหล่งข่าวเพิ่มเติมโดย Sun Narin

  • ข้อมูลเพิ่มเติมจากประชาไท