Your browser doesn’t support HTML5
สมาชิกรัฐสภาออสเตรเลียผู้หนึ่ง กำลังหาทางตอบโต้ทางกฎหมายต่อคำขู่ของ นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ฮุน เซ็น ที่กล่าวไว้เมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า พลเมืองออสเตรเลียคนใดก็ตามที่ประท้วงด้วยการเผาหุ่นจำลองของตน ระหว่างที่ตนเดินทางเยือนออสเตรเลียในเดือนหน้า ตนจะตามไปจัดการกับคนๆ นั้นถึงบ้าน
ผู้นำกัมพูชา กล่าวว่า การที่ตนเดินทางเยือนออสเตรเลียนั้น ถือเป็นเกียรติแก่รัฐบาลออสเตรเลียเอง ซึ่งหากตนได้รับการปฏิบัติที่ไม่เหมาะสม ตนก็พร้อมจะทำให้ออสเตรเลียอับอาย และยังบอกด้วยว่า หากผู้ประท้วงมีสิทธิเผารูปของตน ตนก็มีสิทธิจะลงไม้ลงมือกับผู้ประท้วงเช่นกัน
นายกฯ ฮุน เซ็น ยังขู่ด้วยว่า จะคว่ำบาตรการประชุมสุดยอดวะระพิเศษ อาเซียน - ออสเตรเลีย ที่กำหนดจะจัดขึ้นที่นครซิดนีย์ ในเดือนมีนาคมด้วย โดยคาดว่าจะมีประชาชนหลายร้อยคนที่เตรียมประท้วงนายกฯ ฮุน เซ็น ผู้ครองอำนาจการเมืองกัมพูชามานานกว่า 30 ปี และล่าสุดก็เพิ่งสั่งยุบพรรคฝ่ายค้านพรรคสำคัญ ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งในเดือน ก.ค. นี้
ก่อนหน้านี้ นายกฯ ฮุน เซ็น เคยกล่าวว่าจะสังหารประชาชนหลายร้อยคนหากจำเป็น เพื่อให้ชนะการเลือกตั้ง นอกจากนี้ยังสนับสนุนให้มีการปราบปรามสื่อมวลชน กลุ่มเคลื่อนไหวทางสังคม และศัตรูทางการเมืองด้วย
คำขู่ครั้งล่าสุดของผู้นำกัมพูชา มีขึ้นหลังจากรัฐบาลเยอรมนี ได้กำหนดมาตรการลงโทษต่อกัมพูชาเพื่อตอบโต้การรวบอำนาจทางการเมือง ขณะที่สภาสหภาพยุโรปก็กำลังพิจารณาทบทวนใช้มาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจต่อกัมพูชาเช่นกัน
ด้าน นายหง ลิม (Hong Lim) นักการเมืองออสเตรเลียเชื้อสายกัมพูชา กล่าวว่า ตนได้ติดต่อไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติของออสเตรเลีย หรือ Australian Federal Police (AFP) เมื่อวันพฤหัสบดีที่แล้ว ให้ตรวจสอบคำขู่ของนายกฯ ฮุน เซ็น ที่ว่าจะลงมือกับผู้ประท้วง ซึ่งถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย และอาจเข้าข่ายความผิดทางอาญา
นายลิม บอกด้วยว่า ตนรู้สึกตะลึงงัน ที่นายกฯ กัมพูชา กล้ากล่าวเช่นนั้นก่อนที่จะเยือนออสเตรเลียในอีกไม่กี่วันข้างหน้า เพราะหากเป็นคนทั่วไปจะต้องถูกตำรวจออสเตรเลียจับกุมตัวไว้ตั้งแต่ลงจากเครื่องบินแน่นอน แต่ทำไมจึงไม่ทำเช่นนั้นกับนายกฯ กัมพูชา?
เขายังระบุด้วยว่า "ดูเหมือนเวลานี้ออสเตรเลียกำลังถูกรัฐบาลกัมพูชาแบล็คเมล์ หรือถูกจับเป็นตัวประกัน" และว่า การเดินทางเยือนออสเตรเลียของนายกฯ ฮุน เซ็น ครั้งนี้ ถือเป็นความน่าขายหน้าของรัฐบาลนายกฯ มัลคอล์ม เทิร์นบุลล์
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีผู้ลี้ภัยจากกกัมพูชาเพียงไม่กี่รายที่ได้รับอนุญาตให้ลี้ภัยในออสเตรเลีย ภายใต้ข้อตกลงที่รัฐบาลสองประเทศได้ทำไว้ แลกกับเงินช่วยเหลือจำนวนหนึ่ง โดยนักวิเคราะห์เชื่อว่าข้อตกลงดังกล่าวคือส่วนหนึ่งที่ทำให้รัฐบาลกรุงแคนเบอร์ร่าไม่กล้าออกมาวิพากษ์วิจารณ์ปัญหาการคอร์รัปชั่นและการละเมิดสิทธิมนุษยชนในกัมพูชาเท่าที่ควร
อาจารย์ คาร์ล เธย์เยอร์ (Carl Thayer) แห่ง University of New South Wales กล่าวว่า คำขู่ของนายกฯ ฮุนเซ็น อาจถือเป็นการยั่วยุปลุกปั่นให้เกิดการประท้วงเพื่อตอบโต้กลุ่มที่ต่อต้านผู้นำกัมพูชาได้เช่นกัน ซึ่งที่ผ่านมามีข้อมูลว่า รัฐบาลกรุงพนมเปญพยายามจัดตั้งกลุ่มตอบโต้ดังกล่าวขึ้นมา
อย่างไรก็ตาม อาจารย์ คาร์ล เธย์เยอร์ ระบุว่า คำขู่ของนายกฯ ฮุน เซ็น ที่ว่าหากตนไม่เข้าร่วมการประชุม อาเซียน - ออสเตรเลีย ครั้งนี้ จะทำให้มติใดๆ ก็ตามของอาเซียนนั้นไม่เป็นผล เป็นคำพูดที่ไม่เป็นความจริง แต่ผู้นำกัมพูชาก็สามารถที่จะล็อบบี้ให้ประเทศสมาชิกอื่นๆ ของอาเซียน ปฏิเสธที่จะกระชับความสัมพันธ์กับออสเตรเลียได้
ในอดีต นายกฯ ฮุน เซ็น และครอบครัว มักจะตกเป็นเป้าหมายของการประท้วงของกลุ่มชาวกัมพูชาพลัดถิ่น ขณะเดินทางเยือนต่างประเทศ
ตัวอย่างเช่น การเยือนสหรัฐฯ เมื่อสองปีที่แล้ว ที่นายฮุน มาเนต์ (Hun Mnet) บุตรชายของ ฮุน เซ็น ต้องเผชิญหน้ากับผู้ประท้วงในทุกที่ที่ไป และต้องถอนตัวจากการเข้าร่วมกิจกรรมบางอย่าง รวมทั้งการเยือนออสเตรเลียในปีเดียวกัน ก็ต้องถูกประท้วงอย่างหนักจากชุมชนชาวกัมพูชาที่นั่นเช่นกัน