กัมพูชายืนยันใช้ "วิธีที่แตกต่าง" ต่อเมียนมา ในฐานะประธานอาเซียน

Combodia Prime Minister and ASEAN Chair Hun Sen greets Senior General Min Aung Hlaing at Naypyidaw on January 7, 2022 (Photo by Military Press Team)

กระทรวงการต่างประเทศกัมพูชาเปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ฮุน เซน มิได้พบกับอดีตผู้นำรัฐบาลพลเรือนเมียนมา นางออง ซาน ซู จี ระหว่างการเดินทางเยือนเมียนมาเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว และกัมพูชาจะใช้ "วิธีที่แตกต่างออกไป" ในการรับมือกับวิกฤติการณ์ในเมียนมา

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกัมพูชา ปรัก สุคน กล่าวว่า รัฐบาลกัมพูชาซึ่งเป็นประธานสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน ในปีนี้ มีแนวโน้มเชิญผู้แทนรัฐบาลทหารเมียนมาเข้าร่วมการประชุมอาเซียนในปีนี้ โดยอาจเริ่มตั้งแต่การประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศของอาเซียนในวันที่ 17 มกราคม

รัฐมนตรีสุคนยังกล่าวปฏิเสธข้อกล่าวหาที่ว่า การที่ผู้นำกัมพูชาเยือนเมียนมาในครั้งนี้ถือเป็นการสร้างความชอบธรรมให้กับการยึดอำนาจของกองทัพเมียนมา แต่ยืนยันว่าเป็นอีกหนทางหนึ่งในการผลักดันให้รัฐบาลทหารเมียนมาปฏิบัติตาม "ฉันทามติ 5 ข้อ" ที่จัดทำไว้เมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้ว

โดยเมื่อปีที่แล้ว สมาคมอาเซียนมีมติไม่เชิญผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา พลเอกมิน อ่อง หล่าย เข้าร่วมการประชุมสุดยอดที่บรูไนเป็นเจ้าภาพ ซึ่งถือเป็นกรณีที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน สืบเนื่องจากที่รัฐบาลทหารเมียนมาไม่ยินยอมปฏิบัติตามฉันทามติดังกล่าว

นายกฯ ฮุน เซน ซึ่งยึดอำนาจจากการรัฐประหารเมื่อปี ค.ศ. 1997 เพิ่งเดินทางกลับจากการเยือนเมียนมาเป็นเวลาสองวัน ถือเป็นผู้นำรัฐบาลต่างชาติคนแรกที่เยือนเมียนมานับตั้งแต่เกิดการรัฐประหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว

สื่อของทางการเมียนมารายงานเมื่อวันเสาร์ว่า พลเอกมิน อ่อง หล่าย ได้กล่าวขอบคุณนายกฯ ฮุน เซน ที่ยืนเคียงข้างเมียนมา

รัฐมนตรีต่างประเทศกัมพูชาซึ่งเดินทางร่วมคณะไปเมียนมาในครั้งนี้ด้วย ยืนยันว่า นายกฯ ฮุน เซน มิได้เอ่ยปากขอพบนางซู จี ผู้ถูกควบคุมตัวไว้ตั้งแต่เกิดการรัฐประหารและถูกฟ้องในหลายข้อหา

ทั้งนี้ กองทัพเมียนมามีประวัติการใช้ความรุนแรง รวมทั้งการกดขี่ชนกลุ่มน้อยมุสลิมโรฮีนญา และการยึดอำนาจของกองทัพครั้งนี้จุดชนวนให้เกิดการประท้วงโดยสันติทั่วประเทศ ก่อนที่กองกำลังความมั่นคงจะปราบปรามอย่างรุนแรง

ในช่วงหลังนี้ กองทัพเมียนมาใช้วิธีปราบปรามผู้เห็นต่าง ทำให้มีการสูญหาย การทรมาน และการวิสามัญฆาตกรรม รวมทั้งการโจมตีทางอากาศและทางบกต่อกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ต่างๆ ด้วย

องค์กร Assistance Association for Political Prisoners ระบุว่า กองกำลังความมั่นคงสังหารพลเรือนไปแล้วราว 1,443 คน

นักวิเคราะห์มองว่า นายฮุน เซน ผู้ครองอำนาจด้วยการเนรเทศและจำคุกฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง อาจหวังว่าการเดินทางเยือนเมียนมาครั้งนี้จะช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ของเขาในเวทีระหว่างประเทศที่ไม่ดีนักได้ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ ซึ่งเป็นฝ่ายค้านใต้ดินของเมียนมา ระบุว่า การจับมือกับ “ผู้นำทหารมือเปื้อนเลือด” เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้

  • ที่มา: สำนักข่าวรอยเตอร์