เจ้าหน้าที่กัมพูชาเปิดการสืบสวนเพื่อดำเนินคดี รับมือผู้ผลิตเนื้อหาบนแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ใช้ลิงในพื้นที่มรดกโลกเมืองพระนคร เพื่อหารายได้เข้าตัวเองจนหลายกรณีเข้าข่ายการทารุณสัตว์ ตามการรายงานของเอพี
การรายงานของเอพีพบว่าการใช้ลิงเพื่อสร้างเนื้อหาออนไลน์ มีตั้งแต่การเดินตามถ่ายวิดีโอ ถ่ายภาพตอนให้อาหาร ไปจนถึงการล็อกตัวไว้แล้วสาดด้วยน้ำ หรือจับอวัยวะเพศเพื่อให้ลิงตกใจ ในพื้นที่มรดกโลกที่มีปราสาทนครวัดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่โด่งดัง
ลอง โกศาล โฆษกองค์กร APSARA ซึ่งเป็นหน่วยงานกัมพูชาที่ดูแลพื้นที่โบราณสถานเมืองพระนคร กล่าวว่า “พวกเขา (ยูทูบเบอร์) ทำคอนเทนท์เพื่อแลกกับเงิน ด้วยการสร้างยอดเข้าชมในยูทูป นี่คือปัญหาใหญ่มาก ๆ สำหรับพวกเรา”
APSARA ได้เปิดการสืบสวนสอบสวนร่วมกับกระทรวงการเกษตรกัมพูชา เพื่อรวบรวมหลักฐานและดำเนินคดีกับผู้สร้างเนื้อหาที่กระทำการละเมิดสัตว์อย่างร้ายแรง ซึ่งโกศาลกล่าวว่ามักเป็นผู้ที่ไม่เปิดเผยใบหน้าตนเอง
แม้แพลตฟอร์มอย่างยูทูบ เฟซบุ๊ก และอื่น ๆ ได้ลบเนื้อหาที่มีความล่อแหลม แต่ยังมีคลิปวิดีโอน่ารัก ๆ ของลิงที่ยังคงอยู่และดึงดูดยอดวิวและยอดผู้ติดตามหลายพันคน
เจ้าหน้าที่รัฐและนักรณรงค์ด้านสิทธิสัตว์ต่างกังวลถึงเรื่องที่เกิดขึ้น เพราะการที่มนุษย์เข้าไปมีปฏิสัมพันธ์ใกล้ชิดกับลิง สามารถทำให้มีปัญหาอื่น ๆ ตามมาอีกมาก เช่น พฤติกรรมของลิงที่ก้าวร้าวกับมนุษย์มากขึ้น หรือการย้ายถิ่นจากป่าสู่พื้นที่โบราณสถานเพื่อหาอาหารกับนักท่องเที่ยวจนเป็นอันตรายกับสิ่งปลูกสร้างและความปลอดภัยของมนุษย์
เคดี ฮัทชิง นักท่องเที่ยววัย 23 ปีจากเวลส์ พยายามมีระยะห่างกับลิงตามการแนะนำของมัคคุเทศก์ โดยเธอกล่าวกับเอพีว่า “สิ่งที่ลิงต้องการคืออาหาร แต่คุณก็ต้องรับรู้ว่ามีเส้นแบ่งระหว่างธรรมชาติและการกระทำของมนุษย์”
อย่างไรก็ตาม ยังมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากที่ใช้อาหารเพื่อล่อให้ลิงเข้ามาหาแล้วถ่ายรูประหว่างที่เดินเที่ยวในพื้นที่ ยูทูบเบอร์รายหนึ่งให้สัมภาษณ์กับเอพีว่าลิงแถวนั้นเป็นมิตร ขณะเดียวกันก็มีลูกลิงตัวหนึ่งพยายามแย่งขวดน้ำจากนักท่องเที่ยวอีกคนที่อยู่ไม่ไกลออกไป
นิค มาร์กซ์ ผู้อำนวยการองค์กรช่วยชีวิตสัตว์ป่า Wildlife Alliance ที่ทำงานปล่อยสัตว์คืนสู่ป่าในพื้นที่เมืองพระนคร กล่าวกับเอพีว่า “ปัญหาใหญ่ก็คือวิดีโอเหล่านี้ทำขึ้นเพื่อหาเงิน” และกล่าวว่าปัญหานี้จะบรรเทาลงหากคนหยุดดูเนื้อหาแบบนี้
- ที่มา: เอพี