เกาหลีใต้ว่าจ้างแรงงานกัมพูชาหลายพันคน

Cambodian workers arriving in Seoul, South Korea. (Poch Reasey/VOA Khmer)

แรงงานกัมพูชาหลายแสนคนไปทำงานในเมืองหลวงและในต่างประเทศ

Your browser doesn’t support HTML5

Cambodia Migrants Korea

การโยกย้ายถิ่นทั้งภายในและนอกประเทศเพื่อเหตุผลทางเศรษฐกิจได้เพิ่มมากขึ้น เเม้ว่าเศรษฐกิจของกัมพูชาจะขยายตัวอย่างรวดเร็วในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทีมนักวิจัยพบว่าเขตชนบทของกัมพูชายังตามไม่ทันเนื่องจากไร้การพัฒนาเเละคนเป็นหนี้สินเพิ่มมากขึ้น

และในบรรดาประเทศต่างชาติ เกาหลีใต้เป็นประเทศที่เเรงงานกัมพูชานิยมมากที่สุดเเละแรงงานต้องเเข่งขันกันในระดับหนึ่งเพื่อจะได้ไปทำงานในเกาหลีใต้ที่ต้องการเเรงงานจากกัมพูชาปีละสี่พันคน

ดี เทโฮยา เจ้าหน้าที่โครงการแห่ง Central หน่วยงานรณรงค์สิทธิ์เเรงงานกัมพูชา กล่าวว่าเกาหลีใต้เสนอสภาพการทำงานที่ดีกว่าประเทศอื่น ตลอดจนเคารพต่อสิทธิ์มนุษยชนเเละให้ค่าเเรงที่สูงกว่า เมื่อเทียบกับงานในกรุงพนมเปญหรือในประเทศอื่นๆ

กระทรวงแรงงานและการฝึกฝนอาชีพกัมพูชาชี้ว่าโดยเฉลี่ย เเรงงานชาวกัมพูชาในเกาหลีใต้มีรายได้ราวเดือนละ 1,200 -1,300 ดอลล่าร์สหรัฐฯ หรือ 36,000-40,000 บาทหากทำงานในภาคการเกษตรเเละราวเดือนละ 1,700 -1,800 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 50,000-54,000 บาท หากทำงานในภาคอุตสาหกรรม

หากเทียบกันเเล้ว โรงงานผลิตเสื้อผ้าในกรุงพนมเปญจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำเเก่แรงงานหญิงราวเดือนละ 182 ดอลล่าร์สหรัฐฯเท่านั้น หรือ 5,460 บาทเท่านั้น นี่เป็นตัวเลขล่าสุดในเดือนนี้

มีเเรงงานชาวกัมพูชาในเกาหลีใต้ราว 54,000 คน ทำงานในภาคการก่อสร้าง การเกษตรเเละในอุตสาหกรรมขนาดเล็กเเละกลาง เเรงงานเหล่านี้ส่งเงินกลับบ้านเกิดปีละราว 300 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ เพื่อช่วยเหลือแก่ครอบครัว

ผ่านข้อตกลงทวิภาคีกับกัมพูชา รัฐบาลเกาหลีใต้จะเป็นฝ่ายจัดการขั้นตอนการรับสมัครและคัดเลือกอย่างเป็นทางการ ตลอดจนการจัดการการย้ายถิ่นชั่วคราวผ่านระบบการจ้างงานที่เรียกว่า Employment Permit System (EPS) ที่กำหนดอายุเเรงงานที่ไม่เกิน 40 ปีเเละมีการทดสอบความรู้ภาษาเกาหลีด้วย

องค๋กรเเรงงานระหว่างประเทศ หรือ ILO ชี้ว่าเกาหลีใต้เป็นหนึ่งในประเทศเอเชียไม่กี่ชาติที่จัดการแรงงานต่างด้าวด้อยฝีมือเองอย่างเป็นทางการโดยไม่ใช้บริษัทนายหน้าเอกชน ในขณะเดียวกัน ระบบ EPS ได้ให้การปกป้องทางกฏหมายเเรงงานแก่เเรงงานต่างด้าวในระดับเดียวกับเเรงงานชาวเกาหลี

และตัวเลขของทางการเกาหลีใต้ยังชี้ด้วยว่า ชายที่อาศัยในเขตชนบทของเกาหลีใต้ที่หาภรรยาชาวเกาหลีไม่ได้ ได้เเต่งงานกับหญิงชาวกัมพูชาไปแล้วราว 8,000 คน

อย่างไรก็ตาม แรงงานต่างด้าวชาวกัมพูชาส่วนมากไปทำงานในประเทศอื่นที่เสี่ยงมากขึ้นต่อการถูกเอารัดเอาเปรียบเพราะแทบไม่ได้รับการคุ้มครองทางกฏหมายเเรงงานเเละต้องพึ่งนายหน้าหางานเป็นหลัก ซึ่งอาจเอารัดเอาเปรียบหรือหลอกลวง นอกจากนี้ยังมีเเรงงานกัมพูชาจำนวนมากที่ไม่ได้รับการลงทะเบียนเเละแอบเดินทางข้ามชายแดนอย่างผิดกฏหมาย

บรรดากลุ่มพิทักษ์สิทธิ์เเรงงานและองค์การ ILO ได้เรียกร้องมานานเเล้วให้มีการปรับปรุงการปกป้องสิทธิ์เเรงงานต่างด้าวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเเละกัมพูชาได้เริ่มควบคุมแรงงานข้ามชายเเดนเพื่อลดปัญหาการลักลอบค้ามนุษย์โดยนายหน้า ผู้ว่าจ้างและเจ้าหน้าที่ทางการที่ทุจริต

มีชาวกัมพูชาราว 1 ล้านคนทำงานในประเทศไทยซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางหลักเเละราวครึ่งหนึ่งอาจเป็นเเรงงานผิดกฏหมาย มาเลเซียเป็นจุดหมายที่สำคัญอีกประเทศหนึ่งของเเรงงานกัมพูชา ขณะที่แรงงานจำนวนมากไปทำงานในสิงคโปร์ ญี่ปุ่น ซาอุดิอารเบียเเละฮ่องกง ส่วนคูเวตก็กำลังเจรจากับกัมพูชาเพื่อรับเเรงงานกัมพูชาไปทำงานจำนวน 5,000 คน

หน่วยงาน Amnesty International ชี้ว่า เเรงงานย้ายถิ่นที่มุ่งหน้าไปเกาหลีใต้มักมีการศึกษาที่ดีกว่าเเละได้รับการปกป้องจากการเอาเปรียบจากผู้ว่าจ้างมากกว่าแรงงานจากชาติอื่น เเต่เเรงงานชาวกัมพูชาก็ยังเสี่ยงต่อการถูกเอาเปรียบทางเเรงงาน โดยเฉพาะหากทำงานในภาคการเกษตร

แต่หน่วยงาน Amnesty International ชี้ว่าในปี ค.ศ. 2017 พบว่าเเรงงานกัมพูชาในต่างแดนต้องกู้ยืมเงินในประเทศบ้านเกิดเพื่อใช้เดินทางไปทำงานในเกาหลีใต้และเมื่อไปถึงที่หมายเเล้ว เเรงงานกัมพูชาเหล่านี้เสี่ยงต่อการถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ว่าจ้างเพราะระบบ EPS ของเกาหลีใต้เอียงไปเข้าข้างผู้ว่าจ้างงานมีอิทธิผลต่อการอนุญาตให้แรงงานอยู่ในประเทศ

แรงงานต่างด้าวจำนวนมาก รวมทั้งคนที่ทำงานในภาคเกษตรกรรมต้องยอมทำงานที่ถูกบังคับให้ทำ ทั้งๆ ที่ต่างไปจากที่ตกลงกันเอาไว้เพราะกลัวว่าจะถูกไล่ออก ไม่ต่อวีซ่าให้หรืออาจถูกขู่ทำร้ายร่างกาย จึงตกอยู่ในสภาพถูกบังคับให้ทำงาน

ดี นักรณรงค์แรงงานท้องถิ่นกล่าวว่าแรงงานย้ายถิ่นที่เดินทางกลับกัมพูชาจำนวนมากเจอกับปัญหาในการหางานที่เหมาะสมกับความสามารถในกัมพูชา เขากล่าวว่านี่ทำให้แรงงานกัมพูชาไม่อยากเดินทางกลับเเละเป็นการสูญเสียโอกาสแก่เศรษฐกิจกัมพูชา

เขากล่าวว่า รัฐบาลไม่มีแผนรองรับเเรงงานกัมพูชาที่เดินทางกลับบ้านจากเกาหลีใต้หรือจากประเทศอื่น เพื่อสร้างงานที่เหมาะกับความสามารถเเละความรู้ที่เเรงงานกัมพูชาได้เรียนรู้มา

เฮง ซอร์ โฆษกของกระทรวงเเรงงานเเละการฝึกฝนอาชีพของกัมพูชา ยอมรับในเรื่องนี้ เเต่กล่าวว่าการปรับปรุงด้านการปกป้องแรงงานเเก่คนต่างด้าวในต่างประเทศมีความสำคัญกว่า

เขากล่าวว่าอันดับเเรก กัมพูชาต้องมีระบบของการปกป้องเเรงงานกัมพูชาที่ไปทำงานในต่างประเทศอย่างผิดกฏหมาย อย่างที่สอง หากเเรงงานถูกส่งตัวกลับ ทางการต้องให้ข้อมูลเกี่ยวกับงานที่แรงงานที่ถูกส่งตัวกลับสามารถเลือกทำได้เเละทางกระทรวงยังต้องรับรองความสามารถด้านการทำงานและประสบการณ์จากต่างประเทศ

(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทย กรุงวอชิงตัน)