ประเดิม! ‘ฮุน เซน’ ผู้นำประเทศคนแรกเยือนเมียนมาหลังรัฐประหาร  

In this photo provided by An Khoun Sam Aun/National Television of Cambodia, Cambodian Prime Minister Hun Sen, left, poses for photographs together with Myanmar State Administration Council Chairman, Senior General Min Aung Hlaing, right, before holding a

นายกรัฐมนตรีฮุน เซน ของกัมพูชา เดินทางเยือนเมียนมาเพื่อ “ฟื้นฟูสันติภาพ” ขณะที่นักวิเคราะห์มองว่าการเยือนครั้งนี้มีแต่จะสร้างความชอบธรรมให้กับการยึดอำนาจของกองทัพเมียนมา ตามรายงานของสำนักข่าว Associated Press

การถ่ายทอดสดผ่านทางเพจเฟซบุ๊กทางการของผู้นำกัมพูชาเมื่อเช้าวันศุกร์ แสดงให้เห็นภาพขณะที่เจ้าหน้าที่อาวุโสของเมียนมาต้อนรับนายฮุน เซน ที่กรุงเนปิดอว์ โดยสื่อทางการของเมียนมาก็ถ่ายทอดพิธีดังกล่าวด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ นายฮุน เซน เป็นผู้นำสายอำนาจนิยมที่ครองอำนาจมาแล้ว 36 ปี และควบคุมกิจกรรมการเมืองในกัมพูชาอย่างเข้มงวด เขาเป็นผู้นำประเทศคนแรกที่เดินทางเยือนเมียนมาหลังเกิดรัฐประหารโค่นอำนาจรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของนางออง ซาน ซู จี เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ปีที่แล้ว

ขณะนี้ กัมพูชาดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนซึ่งเป็นตำแหน่งหมุนเวียน โดยผู้นำกัมพูชามีแผนพบกับพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย เพื่อส่งเสริมข้อเสนอฉันทามติ 5 ข้อเพื่อสันติภาพในเมียนมา ตามที่สมาคมอาเซียนให้การรับรองเมื่อปีที่แล้ว

เมื่อวันพุธ นายฮุน เซน ระบุก่อนเดินทางเยือนเมียนมาว่า เขาไม่ได้ตั้งเงื่อนไขล่วงหน้าใดๆ ต่อการพบกับรัฐบาลทหารเมียนมา นอกจากหารือเกี่ยวกับเรื่องฉันทามติของอาเซียน

ฉันทามติดังกล่าวเรียกร้องให้มีการยุติความรุนแรงหลังการยึดอำนาจโดยกองทัพ ให้มีการหารือกับฝ่ายค้านเพื่อหาทางออกโดยสันติ และให้เมียนมาอนุญาตให้ทูตพิเศษของอาเซียนพบปะและไกล่เกลี่ยทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง

เมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้ว ผู้นำชาติอาเซียนรวมทั้งพลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย เห็นด้วยกับฉันทามติดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมาไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมการประชุมระดับผู้นำของอาเซียนเมื่อเดือนตุลาคม หลังจากทูตพิเศษของอาเซียนในขณะนั้นไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าพบนางซู จี และนักโทษทางการเมืองคนอื่นๆ

กองทัพเมียนมาระบุว่า ผู้นำกัมพูชาจะไม่ได้รับอนุญาตให้พบกับนางซู จี เช่นกัน โดยเมื่อเดือนธันวาคม อดีตผู้นำพลเรือนของเมียนมาผู้นี้ถูกตัดสินว่ามีความผิดข้อหาปลุกปั่นและละเมิดกฎหมายควบคุมการระบาดของเชื้อโคโรนาไวรัส เธอถูกตัดสินจำคุกสี่ปี ก่อนที่พลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย จะลดโทษของเธอลงครึ่งหนึ่ง

การยึดอำนาจของกองทัพทำให้พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยของนางซู จี เป็นรัฐบาลสมัยที่สองไม่ได้ แม้จะชนะเลือกตั้งแบบถล่มทลายเมื่อเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2020 และผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งอิสระต่างระบุว่า ไม่พบความผิดปกติอย่างสำคัญใดๆ ในการเลือกตั้งครั้งนี้

Protesters burn an image of Cambodian Prime Minister Hun Sen during a rally against the upcoming visit to Myanmar by the Cambodian leader, on Jan. 3, 2022, in Mandalay, Myanmar.

การรัฐประหารดังกล่าวทำให้เส้นทางสู่การเป็นประชาธิปไตย 10 ปีของเมียนมาหยุดชะงักลง หลังจากที่ก่อนหน้านี้ กองทัพเมียนมาลดบทบาททางการเมืองลงหลังปกครองประเทศด้วยระบอบเผด็จการทหารมาหลายสิบปี

กองทัพเมียนมามีประวัติการใช้ความรุนแรง รวมทั้งการกดขี่ชนกลุ่มน้อยมุสลิมโรฮีนญา และการยึดอำนาจของกองทัพครั้งนี้จุดชนวนให้เกิดการประท้วงโดยสันติทั่วประเทศ ก่อนที่กองกำลังความมั่นคงจะปราบปรามอย่างรุนแรง

ในช่วงหลังนี้ กองทัพเมียนมาใช้วิธีปราบปรามผู้เห็นต่าง ทำให้มีการสูญหาย การทรมาน และการวิสามัญฆาตกรรม รวมทั้งการโจมตีทางอากาศและทางบกต่อกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ต่างๆ ด้วย

องค์กร Assistance Association for Political Prisoners ระบุว่า กองกำลังความมั่นคงสังหารพลเรือนไปแล้วราว 1,443 คน

ในการเดินทางเยือนเมียนมาครั้งนี้ ผู้นำกัมพูชาเดินทางพร้อมรองนายกรัฐมนตรีปรัก สุคน ทูตพิเศษของอาเซียนคนปัจจุบัน รวมทั้งเจ้าหน้าที่ระดับสูงคนอื่นๆ ของกัมพูชา

นักวิเคราะห์มองว่า นายฮุน เซน ผู้ครองอำนาจด้วยการเนรเทศและจำคุกฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง อาจหวังว่าการเดินทางเยือนเมียนมาครั้งนี้จะช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ของเขาในเวทีระหว่างประเทศที่ไม่ดีนักได้ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ ซึ่งเป็นฝ่ายค้านใต้ดินของเมียนมา ระบุว่า การจับมือกับ “ผู้นำทหารมือเปื้อนเลือด” เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้

ทางด้านประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ของอินโดนีเซีย ระบุว่า ผู้นำทหารของเมียนมาจะยังคงไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมประชุมอาเซียนต่อไปจนกว่าการปฏิบัติตามฉันทามติของอาเซียนจะมีความคืบหน้า

ที่มา: สำนักข่าว Associated Press