เมายังไงให้รักษ์โลก! บ. สหรัฐฯ นำน้ำเสียที่บำบัดแล้วกลับมาทำเป็นเบียร์

เบียร์ Epic OneWater Brew ในงานแข่งขันกอล์ฟเมื่อปี 2022 (ที่มา: Facebook/ Epic Cleantec)

เปิดมิติใหม่วงการน้ำเมา เมื่อบริษัทจากแคลิฟอร์เนียรีไซเคิลน้ำเสียในอาคารมาทำเบียร์บรรจุกระป๋อง แม้จะยังไม่สามารถขายได้ แต่ก็เป็นที่จับตามองกันว่าอาจจะเป็นพรมแดนใหม่ของการบำบัดของเสียแบบรับประทานได้

มนุษยชาติอยู่กับเรื่องเล่าของการเล่นแร่แปรธาตุมาเป็นพันปี แต่โลกของวันพรุ่งนี้กำลังพูดถึงการเปลี่ยนน้ำเสียจากเครื่องซักผ้าหรือน้ำทิ้งจากการใช้ในครัวเรือนกลับมาเพื่อการบริโภคใหม่ในรูปแบบของเบียร์

หนึ่งในตัวอย่างของนวัตกรรมใหม่นี้ คือ เบียร์ยี่ห้อ Epic OneWater Brew ซึ่งเป็นเบียร์ประเภทคอลช์ เอล (Kölsch-style ale) และเกิดจากความร่วมมือระหว่างบริษัทเทคโนโลยีการบำบัดน้ำ Epic Cleantec และโรงเบียร์ท้องถิ่น Devil’s Canyon Brewing ในนครซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย

ข้อมูลจากเว็บ Epic Cleantec ระบุว่า Epic OneWater Brew นำน้ำเสียที่ผ่านระบบบำบัดในอาคารชื่อ Fifteen Fifty ที่ซานฟรานซิสโก จำนวน 2,000 แกลลอนมาผ่านกระบวนการแยกสารปนเปื้อนออก แล้วนำไปทำเป็นเบียร์บรรจุกระป๋องสีน้ำเงิน ที่มีภาพเงาของอาคาร Fifteen Fifty เป็นพื้นหลัง

อิกอร์ ทาร์ทาคอฟสกี ผู้ร่วมก่อตั้ง Epic Cleantec ที่ผ่านการอบรมด้านวิทยาศาสตร์การบินอวกาศ ให้ความเห็นต่อคำถามว่า น้ำที่นำกลับมาใช้แล้วแบบนี้จะปลอดภัยพอสำหรับการบริโภคหรือไม่ โดยตอบว่า “คุณคิดว่านักบินอวกาศดื่มอะไรในอวกาศ” เพื่อบ่งชี้ถึงข้อมูลว่า มนุษย์อวกาศก็ดื่มน้ำที่ผ่านกระบวนการรีไซเคิลเช่นกัน

เบียร์จากน้ำบำบัดปรากฏสู่สายตาสาธารณะช่วงปลายเดือนตุลาคม 2022 และแม้เจ้าเบียร์กระป๋องน้ำเงินยังไม่สามารถขายได้เพราะกฎหมายยังไม่อนุญาตให้ขายเครื่องดื่มที่ทำจากน้ำเสียที่ผ่านการบำบัด แต่มันก็ถูกนำเสนอและแจกจ่ายตามงานต่างๆ รวมถึงได้รับความสนใจจากสื่อหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็น CNN, The Guardian, Bloomberg และวีโอเอไทย

อย่างไรก็ตาม Epic OneWater Brew ไม่ใช่เบียร์ที่มีส่วนผสมที่แปลกที่สุดเท่าที่โลกเคยเห็น เพราะก่อนหน้านี้มีนักทำเบียร์ที่ใช้ส่วนประกอบแปลก ๆ ที่หลายคนได้อ่านแล้วอาจจะงงว่า ทำไปทำไม เช่น หินจากดวงจันทร์ พิซซ่าหน้าฮาวายเอียนผสมกับธนบัตรประเทศนอร์เวย์ ไปจนถึงยีสต์จากหนวดของคนทำเบียร์เอง

ปัญหาภัยแล้งและวิกฤตการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ทำให้การบำบัดน้ำกลับมาใช้ใหม่เป็นวาระที่สหรัฐฯ ให้ความสนใจมากขึ้น การรายงานจากสำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมแห่งสหรัฐฯ (U.S. Environmental Protection Agency - EPA) ระบุว่า ประชากรสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา ทำให้การใช้น้ำเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าตัว และยังประเมินด้วยว่า หากไม่มีการพยายามในการประหยัดน้ำ จะมีพื้นที่ราว 40 รัฐที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำภายในปี 2024

ในปี 2021 สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาสหรัฐฯ เสนอกฎหมายให้รัฐลงทุนสนับสนุนโครงการการบำบัดน้ำเสียแล้วนำกลับมาใช้ใหม่ขนานใหญ่ โดยปัจจุบัน สถานะของกฎหมายยังอยู่ในช่วงของการรับฟังความคิดเห็นอยู่

อย่างไรก็ตาม นครซานฟรานซิสโกได้ออกข้อบังคับในปีเดียวกันว่า อาคารใด ๆ ก็ตามที่ขออนุญาตก่อสร้างหลังวันที่ 1 มกราคม 2022 และมีพื้นที่รวมมากกว่า 100,000 ตร.ฟุต จะต้องมีระบบนำน้ำที่ใช้แล้วมาบำบัด แล้วนำกลับมาใช้ใหม่ในตัวอาคารด้วย

แม้อาคาร Fifteen Fifty จะสร้างเสร็จก่อนจะมีการออกกฎหมายดังกล่าว แต่ตัวอาคารสูง 39 ชั้น ที่ให้เช่าพื้นที่สำหรับพักอาศัยแและทำสำนักงานแห่งนี้ก็มีระบบบำบัดน้ำเสียเพื่อนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ได้ถึงวันละ 7,500 แกลลอน (ราว 28,390 ลิตร) ทีเดียว (ที่มา: epiccleantec)

เป็นที่น่าสนใจยิ่งว่า เมื่อการหมุนเวียนทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ได้ขยายพรมแดนเข้ามาถึงวัฒนธรรมการดื่มเช่นนี้ จะทำให้แนวคิดการรักษาสิ่งแวดล้อมดูจับต้องได้ และใกล้ตัวผู้บริโภคมากขึ้นหรือไม่ และมากไปกว่านั้น สิ่งที่เกิดขึ้นยังตอกย้ำว่า ด้วยความตั้งใจดีของมนุษยชาติ ของเสียที่เราทิ้งลงท่อไปแล้ว ก็สามารถกลับมาหาเราใหม่ได้ในสภาพที่ดีต่อใจได้

ที่มา: Epic Cleantec, CNN, Dogfish, Lervig, Jacksonville, Environmental Protection Agency, Congress, San Francisco Public Utilities Commission