การศึกษาชี้ว่าเด็กคลอดด้วยการผ่าตัดมีโอกาสเป็นโรคอ้วนกว่าเด็กคลอดธรรมชาติ

  • Jessica Berman
ผลการศึกษาในสหรัฐอเมริกาชิ้นใหม่เปิดเผยว่าเด็กที่คลอดด้วยการผ่าตัดหน้าท้องมารดามีโอกาสสูงกว่าเด็กที่คลอดตามธรรมชาติต่อการเป็นโรคอ้วนเมื่ออายุครบสามปีถึงสองเท่าตัว
ทีมวิจัยที่โรงพยาบาลเด็กในบอสตันทำการศึกษาเรื่องนี้ โดยรับสมัครหญิงตั้งครรภ์จำนวน 1,250 คนเข้าร่วมการวิจัย ก่อนอายุครรภ์ครบยี่สิบสองสัปดาห์ฺ

ผู้เข้าร่วมการวิจัยทั้งหมดได้คลอดลูกในโรงพยาบาลต่างๆทั่วรัฐแมสสาชูเซ็ทส์ตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2542 ถึง 2545 ในจำนวนทั้งหมด 25 เปอร์เซ็นต์ของมารดาคลอดลูกด้วยการผ่าตัดหน้าท้อง ส่วนมารดาที่เหลือคลอดลูกเองตามธรรมชาติ

หลังจากที่เด็กคลอดได้ 3 เดือน ทีมวิจัยได้บันทึกส่วนสูงกับน้ำหนักตัวของเด็กทุกคนและทำการบันทึกอีกครั้งเมื่อเด็กอายุครบ 3 ปี ทีมวิจัยพบว่าเมื่อเด็กอายุสามปี 16 เปอร์เซ็นต์ของเด็กที่คลอดด้วยการผ่าตัดมีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐานเข้าข่ายเป็นโรคอ้วน ส่วนเด็กที่คลอดตามธรรมชาติแค่ 7.5เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่เป็นโรคอ้วน

ทีมนักวิจัยพบว่าเด็กที่คลอดด้วยการผ่าตัด ยังมีความหนาของรอยพับผิวหนังหนากว่าเด็กที่คลอดธรรมชาติ ชั้นความหนาใต้ผิวหนังนี้เป็นตัวใช้วัดปริมาณไขมันของร่างกาย ผลการวิจัยยังคงเหมือนเดิมแม้ว่าทีมวิจัยได้นำปัจจัยเรื่องน้ำหนักตัวของมารดาเข้าไปในการประเมินด้วย

นายแพทย์ Amos Grunebaum ผู้อำนวยการฝ่ายสูติศาสตร์ที่ศูนย์ New York Weill Cornell Medical Center ในนิวยอร์คซิตี้ เชื่อว่า การศึกษานี้ชี้ให้เห็นความสำคัญของการให้คำปรึกษาเรื่องการคลอดลูกด้วยการผ่าตัดแก่หญิงตั้งครรภ์ที่ต้องการเลือกการผ่าตัดเพื่อความสะดวก เพื่อให้รู้ถึงผลกระทบต่อสุขภาพของลูกในระยะยาว

นายแพทย์ Grunebaum กล่าวกับผู้สื่อข่าววีโอเอว่า แพทย์รู้ดีอยู่แล้วว่าหากทำการผ่าตัดหน้าท้องคลอดลูก ทั้งๆที่ไม่มีความจำเป็นทางการแพทย์ เด็กทารกมีโอกาสเสี่ยงสูงขึ้นต่อปัญหาเกี่ยวกับระบบการหายใจ จนอาจจะต้องเข้าไปรักษาตัวในห้องไอซียู

ผู้เชี่ยวชาญท่านนี้กล่าวว่า การคลอดลูกด้วยการผ่าตัด เป็นทางเลือกที่ถูกต้องสำหรับการตั้งครรภ์ที่ไม่ปกติ อาทิ ทารกไม่กลับหัว ทารกคลอดยากผิดปกติและการคลอดไม่คืบหน้าตามขั้นตอนที่ควรจะเป็น

นายแพทย์ Grunebaum กล่าวกับผู้สื่อข่าววีโอเอว่า ก่อนการตัดสินใจว่าจะคลอดลูกวิธีใด ควรชั่งน้ำหนักระหว่างความเสี่ยงกับผลดี หากมีคววามเสี่ยงมากกว่าผลดี

ทีมวิจัยที่รัฐแมสซาชูเซ็ทส์ คาดว่า อาการโรคอ้วนในเด็กอาจจะเกิดจากอิทธิพลของแบคทีเรียชนิดกนึ่งในลำให้ของเด็ก แบคทีเรียในลำใส้เด็กที่คลอดจากการผ่าตัดอาจจะมีความแตกต่างไปจากเชื้อแบคทีเรียในลำใส้ของเด็กที่คลอดตามธรรมชาติ

นักวิจัยเห็นว่าแบคทีเรียลำใส้ชนิดนี้มีผลต่อการทำงานของลำใส้ในการดูดซึมแคลอรี่และสารอาหารต่างๆจากอาหารที่รับประทานเข้าไป การย่อยสลายน้ำตาลและการสร้างไขมันในร่างกาย นอกจากนี้ นักวิจัย ยังเพ่งไปการหลั่งฮอร์โมนต่างๆในช่วงที่มารดากำลังอยู่ระหว่างการคลอดลูกว่าอาจมีผลต่อพัฒนาการเรื่องน้ำหนักตัวของลูกในเวลาต่อมา

ทีมนักวิจัยยังไม่สามารถฟันธงในสมมุติฐานทั้งสองอย่างนี้ ทั้งเรื่องแบคทีเรียในลำใส้และฮอร์โมนการคลอดลูกต่างๆ และชี้ว่าจำเป็นต้องมีการศึกษาทั้งสองเรื่องนี้ต่อไป