การเจรจาทวิภาคีประจำปีเรื่องยุทธศาสตร์และเศรษฐกิจครั้งที่ 6 ระหว่างจีนกับสหรัฐที่ปักกิ่งสิ้นสุดลงแล้ว รายงานข่าวกล่าวว่าประเด็นที่ทั้งสองฝ่ายหารือกัน รวมถึงเรื่องการเปลี่ยนแปลงบรรยากาศโลก ความมั่นคงทาง Internet การปฏิรูปเศรษฐกิจ และความตึงเครียดระหว่างจีนกับประเทศเพื่อนบ้าน
รัฐมนตรี John Kerry ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ กล่าวในที่ประชุมแถลงข่าวหลังการประชุมว่าจีนและสหรัฐให้พันธกรณีต่อรูปแบบใหม่ของความสัมพันธ์ ซึ่งเน้นความร่วมมือเชิงปฏิบัติ และการจัดการอย่างสร้างสรรค์กับความแตกต่างระหว่างกัน และว่าการหารือส่วนใหญ่มุ่งเน้นไปในเรื่องของแนวคิดมากกว่าการปฏิบัติในทันที
ส่วนโฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน นาย Hong Lei ยกส่วนหนึ่งของคำปราศัยในวันเปิดการประชุมของประธานาธิบดี Xi Jingping ที่ว่า ‘ประวัติศาสตร์และความเป็นจริงแสดงให้เห็นว่า ความร่วมมือระหว่างจีนกับสหรัฐให้ประโยชน์แก่ประเทศทั้งสอง ในขณะที่การประจันหน้ากันรังแต่จะส่งผลเสียให้เท่านั้น’ มากล่าวย้ำ
ขณะเดียวกัน ทางการจีนกล่าวยืนยันว่ากำลังพยายามหาดุลยภาพที่เหมาะสมสำหรับการปฏิรูปเศรษฐกิจ รวมทั้งการเปิดเสรีอัตราการแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ และการเปิดตลาดจีน
และรัฐบาลอินเดียประกาศแนวนโยบายสำหรับการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ และส่งสัญญาณถึงวงการธุรกิจเพื่อฟื้นฟูความเชื่อมั่นระหว่างกัน
มาตรการที่รัฐบาลอินเดียประกาศออกมาแล้ว รวมถึงการเพิ่มวงเงินการลงทุนในธุรกิจการป้องกันประเทศและการประกัน อินเดียเป็นผู้ซื้ออาวุธรายใหญ่ที่สุดในโลก
รัฐบาลอินเดียยังให้คำมั่นด้วยว่า จะเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนมีบทบาทมากขึ้นในการปรับปรุงโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศ ส่วนมาตรการอื่นๆรวมถึงการฟื้นฟูหัตถอุตสาหกรรม และการปรับอัตราภาษีสำหรับสินค้าและบริการที่จะทำให้การค้าทั่วทั้ง 29 รัฐของประเทศเป็นได้อย่างสะดวกง่ายดายมากขึ้นด้วย
ในอีกด้านหนึ่ง รายงานของสหประชาชาติ เรื่อง ‘2014 World Urbanization Prospects’ ระบุว่า 54% ของประชากรโลก ซึ่งมีจำนวนราวๆ 7 พันล้านคน พำนักอาศัยอยู่ในเขตนาคร และว่าอัตราส่วนที่ว่านี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 66% ในอีก 35 ปีข้างหน้า
รายงานฉบับนี้กล่าวว่า ปัญหาประชากรในเขตนาคร จะเป็นปัญหาสำคัญที่สุดปัญหาหนึ่งในคริสต์ศตวรรษที่ 21 นี้ และว่าเวลานี้โลกมี Mega-cities คือเมืองใหญ่ที่มีคนอยู่อย่างน้อย 10 ล้านคนขึ้นไป เพิ่มขึ้นจาก 10 เมืองในปี ค.ศ. 1990 เป็น 28 เมืองแล้ว นำโดย Tokyo, New Delhi, Shianghai, Mexico City, และ Sao Paulo
และกระทรวงเกษตรสหรัฐคาดว่าประเทศไทยจะกลับมาเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุดในโลกอีกครั้งหนึ่งในปีหน้า กระทรวงเกษตรสหรัฐให้ตัวเลขที่คาดการณ์ไว้ว่า การส่งออกข้าวของไทยจะสูงเกือบ 10 ล้านตัน ซึ่งจะเป็นปริมาณสูงที่สุดนับตั้งแต่การส่งออกข้าว 10.6 ตันในปี ค.ศ. 2011