Your browser doesn’t support HTML5
“ภาระหนี้-กีดกันการค้า”ปัจจัยฉุดเศรษฐกิจโลกฟื้นช้า
ธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ หรือ BIS ในเมืองบาเซิล ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะเติบโตที่ 3.5 เปอร์เซนต์ในปีนี้ โดยอุปสรรคสำคัญในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก คือ การกีดกันการค้าเสรีและภาระหนี้สูงในฝั่งผู้บริโภคและผู้ประกอบการ
ที่ผ่านมาการใช้จ่ายของผู้บริโภคและภาคเอกชนเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกที่สำคัญ แต่จากแนวโน้มของอัตราดอกเบี้ยนโยบายในหลายประเทศที่มีทิศทางเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลต่อภาระหนี้ผู้บริโภคเพิ่มขึ้น กระทบกับความสามารถในการใช้จ่ายของประชาชน ขณะเดียวกันอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นยิ่งซ้ำเติมภาคเอกชนที่มีการลงทุนลดลงอยู่แล้วให้ชะลอการลงทุนออกไปจากต้นทุนดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้นด้วย
ทั้งนี้ ทาง BIS แนะนำให้รัฐบาลทั่วโลกใช้โอกาสที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวอย่างช้าๆ ในการสร้างการเติบโตของเศรษฐกิจภายในที่รองรับความผันผวนจากปัจจัยต่างประเทศ ด้วยการผลักดันนโยบายที่เอื้อต่อการลงทุนภาคเอกชนและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ
คาดอุตสาหกรรมโดรนทะลุ 4 แสนล้านบาทในอีก 10 ปีข้างหน้า
ผลการศึกษาจาก The Teal Group รายงานว่า ในปีนี้มีการลงทุนในอุตสาหกรรมอากาศยานไร้คนขับ หรือ โดรน ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทหารมากถึง 2 พัน 8 ร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 9 หมื่น 5 พัน 2 ร้อยล้านบาท และคาดว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า จะมีการลงทุนในอุตสาหกรรมโดรนนี้เพิ่มขึ้นเป็น 1 หมื่น 1 พัน 8 ร้อยล้านดอลลาร์ หรือราว 4 แสน 1 พันล้านบาท ภายในปี 2026
ทั้งนี้ การเติบโตอย่างก้าวกระโดดของตลาดโดรนเชิงพาณิชย์จะเกิดขึ้นไม่ได้ หากรัฐบาลไม่ผ่อนคลายกฏหมายการบิน การทุ่มงบประมาณมหาศาลในการลงทุน และการทุ่มสรรพกำลังจากบริษัทด้านเทคโนโลยีที่ต่างพัฒนาอากาศยานไร้คนขับนี้กันเป็นจำนวนมาก
ถ้าเปรียบเทียบด้านต้นทุนแล้ว โดรนใช้ต้นทุนต่ำกว่าและใช้เวลาฝึกอบรมในการบินน้อยกว่า เพราะอากาศยานที่ใช้นักบินแบบดั้งเดิม ที่ต้องใช้เวลาหลายเดือนและและทุ่มเงินหลายหมื่นดอลลาร์ เพียงเพื่อให้ได้ใบอนุญาตขับเครื่องบิน ขณะที่การฝึกอบรมการบินโดรนใช้เวลาไม่กี่วันและเงินค่าเรียนเพียงไม่กี่ร้อยดอลลาร์เท่านั้น
สื่อสังคมออนไลน์ผนึกกำลังต่อต้านเนื้อหาส่งเสริมก่อการร้าย
ยักษ์ใหญ่ด้านสื่อสังคมออนไลน์ ทั้งเฟสบุ๊ค ทวิตเตอร์ ยูทูป และไมโครซอฟต์ ผนึกกำลังก่อตั้งหน่วยงานร่วม ในการจัดการเนื้อหาที่ส่งเสริมหรือเข้าข่ายการก่อการร้ายออกจากแพลตฟอร์มของทุกเครือข่ายสังคมออนไลน์
การประกาศเจตนารมณ์ร่วมนี้มีขึ้นในวันจันทร์ ที่ทั้ง 4 บริษัทได้ร่วมจัดตั้ง Global Internet Forum ขึ้น เพื่อต่อต้านการก่อการร้าย ที่ใช้สื่อสังคมออนไลน์เผยแพร่ลัทธิความรุนแรง และเตรียมขยายความร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญด้านการก่อการร้าย องค์กรระหว่างประเทศ และค่ายเทคโนโลยีเจ้าเล็กๆ
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผู้นำจากสหภาพยุโรป เรียกร้องให้บริษัทด้านเทคโนโลยีพัฒนาเทคโนโลยีตรวจจับและลบเนื้อหาของกลุ่มก่อการร้าย รวมทั้งเยอรมนีบังคับใช้กฏหมายใหม่ที่เรียกปรับสูงบริษัทสื่อสังคมออนไลน์ 56 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 1 พัน 9 ร้อยล้านบาท หากไม่ดึงเนื้อหาที่เข้าข่ายก่อการร้ายออกจากสื่อสังคมออนไลน์
นักศึกษาต่างชาติมาศึกษาต่อในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น2%
รายงานจากหน่วยงานตรวจคนเข้าเมือง ภายใต้กระทรวงความมั่นคงมาตุภูมิสหรัฐฯ เผยตัวเลขนักศึกษาต่างชาติที่เดินทางมาศึกษาต่อยังสหรัฐอเมริกาในปีนี้ อยู่ที่ 1 ล้าน 1 แสน 8 หมื่นคน เพิ่มขึ้น 2 เปอร์เซนต์ จากเดือนมีนาคมปีที่แล้ว
ในรายงานระบุว่า 77 เปอร์เซนต์ของนักศึกษาต่างชาติในสหรัฐฯตอนนี้ มาจากเอเชีย โดย 3 แสน 6 หมื่น 2 พันคนเป็นชาวจีน / 2 แสน 7 พันคน มาจากอินเดีย / และมีนักศึกษาชาวเนปาลเดินทางมาเพิ่มขึ้นถึง 18 เปอร์เซนต์จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ซาอุดิอารเบียเดินทางมาศึกษาต่อน้อยลงถึง 19 เปอร์เซนต์
สาขาวิชาที่นักศึกษาต่างแดนให้ความสนใจ 43 เปอร์เซนต์ยังเป็น วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ หรือ คณิตศาสตร์ ที่เรียกรวมกันว่า STEM ซึ่งเป็นสาขาวิชาที่นักศึกษาเอเชีย 49 เปอร์เซนต์ให้ความสนใจ ส่วนรัฐที่นักศึกษาต่างชาติให้ความสนใจเรียนต่อมากที่สุด ได้แก่ แคลิฟอร์เนีย นิวยอร์ก และเท็กซัส