ผู้เชี่ยวชาญการค้าชี้สหรัฐอาจเสียประโยชน์ขณะที่อาเซียน+5 มุ่งหน้าให้สัตยาบันข้อตกลง RCEP

Your browser doesn’t support HTML5

Business News

เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้วประเทศสมาชิกของสมาคมอาเซียน 10 ประเทศกับประเทศคู่ค้าอีกห้ารายคือออสเตรเลีย จีน ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ และเกาหลีใต้ได้สรุปความตกลงการเจรจาการค้าเสรี RCEP หรือข้อตกลงหุ้นส่วนความร่วมมือทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคระหว่างสมาคมอาเซียนกับห้าประเทศคู่ค้า

ซึ่งโดยรวมแล้วครอบคลุมผลผลิตทางเศรษฐกิจประมาณ 30% ของโลก และขณะนี้จีน ญี่ปุ่น กับประเทศสมาชิกอาเซียนสองประเทศได้ให้สัตยาบันรับรองไปแล้ว

แต่การที่ข้อตกลงดังกล่าวจะเริ่มมีผลบังคับใช้ได้นั้นฝ่ายนิติบัญญัติของประเทศสมาชิกอาเซียนอีกสี่ประเทศและของประเทศคู่ค้าภายนอกอีกหนึ่งประเทศจะต้องให้สัตยาบันรับรอง ซึ่งเมื่อถึงจุดนั้นก็คาดว่า RCEP จะเป็นข้อตกลงการค้าเสรีที่ใหญ่และครอบคลุมผลผลิตทางเศรษฐกิจมากที่สุดในโลกในขณะนี้

ก่อนหน้านี้การเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี RCEP มีขึ้นพร้อมความพยายามผลักดันข้อตกลงการค้าเสรี TPP ซึ่งไม่มีจีนรวมอยู่ด้วย แต่รัฐบาลสหรัฐฯ สมัยประธานาธิบดีทรัมป์ได้ถอนตัวจากการเจรจาข้อตกลง TPP ซึ่งก็เป็นผลให้ขณะนี้สหรัฐฯ ไม่มีส่วนร่วมอยู่ในข้อตกลงการค้าเสรีในภูมิภาคนี้เลย

นักวิเคราะห์ด้านการค้าบางคน เช่น คุณ Patrick Quirk จากสถาบัน International Republican Institute ได้ชี้ว่าสหรัฐฯ อาจจะเสียเปรียบเพราะข้อตกลง RCEP จะเปิดโอกาสให้จีนมีอิทธิพลด้านการค้าและเพิ่มระดับการพึ่งพาทางเศรษฐกิจกับประเทศพันธมิตรของสหรัฐฯ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกได้มากขึ้น

ส่วน Jeffrey Wilson ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของศูนย์ Perth USAsia Center ในออสเตรเลียเห็นว่าถึงแม้ข้อตกลง RCEP จะส่งผลให้กลุ่มประเทศสมาชิกมีปริมาณการค้ากับภูมิภาคภายนอกซึ่งรวมถึงสหรัฐฯ น้อยลงก็ตาม

แต่ RCEP ก็น่าจะช่วยเน้นย้ำเรื่องความสำคัญของระบบการค้าโลกได้ ทางด้านคุณ Shiro Armstrong ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยออสเตรเลียญี่ปุ่นที่มหาวิทยาลัย Australian National University ก็เชื่อว่าสหรัฐฯ อาจจะเสียเปรียบสำหรับการแข่งขันในบางตลาด

อย่างไรก็ตามข้อตกลง RCEP จะช่วยเปิดตลาดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในเวลาที่แนวคิดการปกป้องผลประโยชน์ด้านการค้ากำลังเพิ่มสูงขึ้นได้