ธุรกิจ: นักเศรษฐศาสตร์กังวลเงินเฟ้ออาจสูงขึ้นจาก "แผนลดภาษี" ของประธานาธิบดีทรัมป์

สหภาพยุโรปเตรียมใช้กฎหมายเล่นงานฮังการีกรณีกีดกันมหาวิทยาลัยต่างชาติ / ยูเครนผุดไอเดียสร้างทุ่งโซล่าร์เซลล์รอบโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล

Your browser doesn’t support HTML5

Business News

นักเศรษฐศาสตร์กังวลเงินเฟ้ออาจสูงขึ้นจาก "แผนลดภาษี" ของประธานาธิบดีทรัมป์

บรรดานักเศรษฐศาสตร์ต่างชี้ว่า แผนของ ปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะลดภาษีสำหรับธุรกิจและภาคครัวเรือนในสหรัฐฯ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอเมริกัน ซึ่งประกาศออกมาเมื่อวานนี้ อาจก่อให้เกิดผลกระทบด้านอัตราเงินเฟ้อ และอาจทำให้ระบบธนาคารกลางสหรัฐฯ ต้องขึ้นดอกเบี้ยในอัตราที่รวดเร็วกว่าเดิม

รัฐมนตรีการคลังสหรัฐฯ สตีเว่น มานูชิน ระบุว่า "การลดภาษีครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์นี้ จะทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นหลายแสนล้านดอลลาร์ และจะส่งผลให้เศรษฐกิจอเมริกันขยายตัวที่ 3% สูงที่สุดในรอบ 12 ปี"

แต่นักวิเคราะห์เกรงว่ามาตรการดังกล่าวอาจมีผลให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเกินระดับ 2% ซึ่งเป็นระดับที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ตั้งเป้าเอาไว้

นอกจากนี้ ผู้บริหารระบบธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจต้องทบทวนใหม่ว่าจะค่อยๆ ขึ้นดอกเบี้ยในอัตราที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน หรือต้องเพิ่มให้เร็วขึ้นเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลสหรัฐฯ ไม่ต้องการให้เกิดขึ้น

สหภาพยุโรปเตรียมใช้กฎหมายเล่นงานฮังการีกรณีกีดกันมหาวิทยาลัยต่างชาติ

สหภาพยุโรประบุว่ากำลังใช้แนวทางทางกฎหมายต่อฮังการี จากกรณีที่รัฐบาลฮังการีออกร่างกฎหมายใหม่ที่อาจนำไปสู่การปิดมหาวิทยาลัยที่มีเจ้าของเป็นชาวต่างชาติ

ร่างกฎหมายฉบับนี้กำหนดว่า มหาวิทยาลัยจากต่างประเทศรวม 28 แห่งที่เปิดสอนในประเทศฮังการี จะต้องมี campus หรือบริเวณที่ตั้งของมหาวิทยาลัย อยู่ทั้งในประเทศของตนและในฮังการีด้วย

ร่างกฎหมายฉบับนี้ดูเหมือนจะมีผลต่อ มหาวิทยาลัย Central European University (CEU) ของนาย George Soros นักลงทุนชาวอเมริกันเชื้อสายฮังการีโดยตรง

เพราะมหาวิทยาลัยดังกล่าวซึ่งเป็นสถาบันสอนภาษาอังกฤษ และมีนักศึกษาจากกว่า 100 ประเทศราว 1,400 คน ไม่มีที่ตั้งอยู่ในประเทศอื่นนอกจากในกรุงบูดาเปสท์ เมืองหลวงของฮังการีเท่านั้น

ยูเครนผุดไอเดียสร้างทุ่งโซล่าร์เซลล์รอบโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล

สัปดาห์นี้เป็นโอกาสครบรอบ 31 ปีเหตุการณ์กัมมันตภาพรังสีรั่วไหลที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล ซึ่งถือเป็นหายนะทางนิวเคลียร์ครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่ง

แต่ปัจจุบัน บริเวณรอบๆ โรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลกำลังกลายสภาพเป็นทุ่งโซล่าร์เซลล์ที่จะสามารถผลิตพลังงานได้ราวครึ่งหนึ่งของที่เชอร์โนบิลเคยผลิตได้ในสมัยนั้น

การสร้างทุ่งโซลาร์เซลล์ที่โรงไฟฟ้าแห่งนี้เป็นแนวคิดของรัฐบาลยูเครน ที่ต้องการใช้ประโยชน์จากทุ่งกว้างรอบเชอร์โนบิล โดยให้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจูงใจให้บริษัทต่างๆ มาลงทุน โดยขณะนี้มีบริษัทจากหลายประเทศยื่นใบสมัครเข้ามาแล้วกว่า 50 บริษัท