รัฐบาลพม่ากำหนดให้ทุกกระทรวงออนไลน์ภายในสองปีข้างหน้า พร้อมทั้งเว็บพอร์ทัล และซอฟท์แวร์สำหรับการบริหารจัดการ

รัฐบาลพม่ากำลังเร่งรัดเพื่อจะให้การทำงานของรัฐบาลก้าวกระโดดทันโลกดิจิทัล เป้าหมายสำคัญคือการให้ทุกกระทรวงออนไลน์ให้ได้ภายในปี พ.ศ. 2558

มีประชากรพม่าที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ทราวๆ 1 % เท่านั้นในขณะนี้ แต่ส่วนใหญ่ของผู้ที่เข้าถึงนั้น มีบัญชี Facebook ทุกคน พรรคการเมือง นักข่าว และโฆษกประธานาธิบดี สื่อสารติดต่อกับประชาชนผ่านทาง Facebook เป็นหลัก

การจะปรับการทำงานของรัฐบาลทั้งประเทศให้เข้าไปอยู่ในโลกดิจิทัลนี้ เป็นงานใหญ่มาก เพราะแม้แต่ในกรุง Naypyitaw นครหลวงที่สร้างขึ้นมาใหม่ อาคารที่ทำการรัฐบาลยังมีปัญหาเรื่องไฟฟ้าดับเป็นประจำ

อธิบดี Myint Kyaw ของกรมข่าวสารในกระทรวงข่าวสารของพม่า เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการให้ได้ตามเป้าหมายที่ว่านี้ พม่ามีกระทรวง 36 กระทรวง และอธิบดี Myint Kyaw บอกว่าข้าราชการพม่าส่วนใหญ่ยังใช้คอมพิวเตอร์ไม่เป็น ที่พอจะรู้เรื่อง ก็นิยม Facebook มากกว่า

เขากล่าวต่อไปว่า เพราะว่าชาวพม่านิยมใช้ Facebook กันมาก ก็เลยง่ายที่จะเผยแพร่ข้อมูลผ่านทางสื่อสังคมนี้ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลส่วนตัวหรือขององค์กร

องค์การ Freedom House จัดบริการอินเทอร์เน็ตของพม่าในปี 2556 ไว้ในประเภท “ไม่เสรี” โดยมีการกีดกันการเข้าถึง และโครงสร้างเป็นปัญหาใหญ่ และแม้ว่าโทษสำหรับการใช้อินเทอร์เน็ทอย่างไม่ถูกต้อง จะลดการจำคุกลงจาก 15 ปี มาเป็น 7 ปี นักวิเคราะห์ก็ยังเห็นว่า ทางการพม่ายังจะต้องทำงานก้าวหน้าอีกไกล กว่าจะสร้างสภาพแวดล้อมสำหรับอินเทอร์เน็ทเสรีขึ้นมาได้

Nay Phone Latt นักเขียน blog ซึ่งในอดีตเป็นนักโทษการเมือง บอกว่า รัฐบาลสมัยก่อนไม่ฟังเสียงประชาชน คิดว่ามีอำนาจตัดสินทุกสิ่งทุกอย่างได้ ซึ่งขัดกับระบบประชาธิปไตย เพราะผู้ที่มีความสำคัญในระบบนั้น ไม่ใช่รัฐบาล

อดีตนักโทษการเมืองชาวพม่าผู้นี้ทำงานเป็นที่ปรึกษาของรัฐบาลทางด้านนโยบายการสื่อสารคมนาคม และบอกว่า เวลานี้ รัฐบาลต้องการรับฟังเสียงประชาชน และเต็มใจรับการเปลี่ยนแปลง

ประเด็นสำคัญของการทำงานออนไลน์ของหน่วยงานรัฐบาล คือการรักษาความมั่นคงปลอดภัย Thaung Su Nyein กรรมการผู้จัดการของบริษัท Information Matrix ซึ่งกำลังจัดทำซอฟท์แวร์ให้รัฐบาล บอกว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก และว่าในขณะนี้ ยังไม่มีใครแน่ใจว่า เทคโนโลยีนี้จะนำผู้ใช้ไปทางไหนได้บ้าง แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ต้องการให้มีเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดความตื่นตระหนกเกินความเป็นจริง ซึ่งจะทำให้ทุกคนไม่กล้าที่จะนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้

พม่ามีบริการอินเทอร์เน็ทเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2543 และใช้เฉพาะในการทหารเท่านั้น การขยายตัวหลังจากนั้นเป็นไปอย่างเชื่องช้า และราคาแพงมากสำหรับคนทั่วไป เวลานี้ รัฐบาลเกาหลีใต้กำลังให้ความช่วยเหลือรัฐบาลพม่าในการปรับข่ายงานอินเทอร์เน็ทของประเทศให้ทันสมัย ซึ่งเป็นโครงการระยะยาว คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2573

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลพม่าคาดไว้ว่า จะมีผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ทประมาณ 30 ล้านคน หรือครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งประเทศภายในสองปีข้างหน้า