กลุ่มชาวพุทธเรียกร้องพระสงฆ์หัวรุนแรงในพม่าที่เป็นแกนนำต่อต้านชาวมุสลิมให้ก้าวพ้นความหวาดกลัวเพื่อบรรลุธรรมแห่งพระพุทธเจ้า

  • Daniel Schearf
ปัญหาความรุนแรงระหว่างศาสนาในพม่าที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากที่ยังคงดำเนินต่อไป ส่วนหนึ่งเกิดจากกลุ่มพระสงฆ์ที่ยังคงมีแนวคิดนิยมความรุนแรงต่อผู้นับถือศาสนาอื่นทั้งที่แนวทางของศาสนาพุทธโดยทั่วไปนั้นไม่นิยมความรุนแรงและไม่ส่งเสริมความเกลียดชังในศาสนาอื่น กลุ่มนักรณรงค์ชาวพม่าจึงจัดกิจกรรมดึงความสนใจจากผู้นำศาสนาชาวพุทธจากทั่วโลก รวมไปถึงองค์ดาไล ลามะ ผู้นำทางจิตวิญญานของทิเบตให้หันมาสนใจเรื่องนี้มากขึ้น

แม้พม่าจะมีประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธมากกว่าร้อยละ 90 ขณะที่มีผู้นับถือศาสนาคริสต์ร้อยละ 5 และศาสนาอิสลามร้อยละ 4 แต่ พระ U Wi Sate แกนนำพระสงฆ์พม่าที่แนวคิดหัวรุนแรง หรือที่รู้จักในนาม “U Wirathu” ต้องการให้ทุกคนเชื่อว่า ชาวมุสลิม โดยเฉพาะชาวโรฮิงจะที่มีเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็วในฐานะผู้เข้าเมืองผิดกฏหมายนั้นเป็นภัยต่อพระศาสนาและใช้กำลังคุกคามชาวพุทธในพม่า

แกนนำพระสงฆ์ที่นิยมความรุนแรงชาวพม่า ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ กับผู้สื่อข่าววีโอเอ บอกถึงความเชื่อของเขาว่า กลุ่มมุสลิมจะไม่ยอมอยู่ร่วมกับชนกลุ่มน้อยอื่นๆ และกังวลว่า หากชาวมุสลิมแข็งแกร่งมากขึ้นเรื่อยๆ ศาสนาพุทธก็อาจจะถูกทำลายเหมือนที่เคยเกิดขึ้นกับอินเดียมาแล้ว

พระ “U Wirathu” เป็นผู้ก่อตั้งกลุ่มรณรงค์ต่อต้านชาวมุสลิมที่มีชื่อเรียกว่า ขบวนการ “969” (969 Campaign) มาตั้งแต่ปีคริสตศักราช 2001 และถูกจำคุกในเหตุการณ์ก่อการจราจลต่อต้านชาวมุสลิมในอีก 2 ปีต่อมา และเพิ่งได้รับการปล่อยตัวจากการนิรโทษกรรมเมื่อปี 2012 หรือปีที่แล้ว ก่อนจะเริ่มสานต่อความเคลื่อนไหวของขบวนการ 969 ต่อทันที จนเกิดเหตุการณ์ปะทะกันอย่างรุนแรงระหว่างชาวพุทธและมุสลิมจนมีผู้เสียชีวิตกวาส 200 คนและ 1 แสน 2 หมื่นคนไร้ที่อยู่อาศัยในรัฐระขิ่น และยังคงมีเหตุรุนแรงต่อเนื่องในหลายภูมิภาคของพม่า

องค์ ดาไล ลามะ ผู้นำทางจิตวิญญาณของฑิเบต แสดงความไม่เห็นด้วยกับความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพม่า ว่า เป็นเรื่องที่น่าเศร้าในสิ่งที่เกิดขึ้น และขอสวดมนต์ภาวนาให้ชาวพุทธที่มีความคิดในแง่ลบต่อชาวมุสลิมทุกคนให้นึงถึงคำสอนของพระพุทธเจ้า และกล่าวว่า ชาวพุทธควรเคารพในความเชื่อของทุกศาสนา หรือแม้แต่ผู้ที่ไม่เชื่อในศาสนาใดเลย ไม่ว่าจะนับถือศาสนาใด แต่ต้องเคารพในความแตกต่างของทุกศาสนา

ดูเหมือนว่าข้อเรียกร้องของผู้นำจิตวิญญานแห่งฑิเบตจะยังเดินทางไปไม่ถึงพม่า เมื่อขบวนการ 969 ยังคงรณรงค์ต่อเนื่องตามชุมชนชาวพุทธด้วยการแสดงตัวติดสติ๊กเกอร์ของกลุ่มและไม่ทำมาค้าขายกับชาวมุสลิม

Myo Win ผู้นำชาวมุสลิมในพม่า ที่จัดตั้งกลุ่มต่อต้านขบวนการ 969 กล่าวกับผู้สื่อข่าวในงานเสวนาเกี่ยวกับสถานการณ์ชาวมุสลิมในพม่าภายใต้รัฐแห่งความหวาดกลัว ที่กรุงเทพมหานคร และตั้งคำถามถึงรัฐบาลพม่า ว่า เพราะเหตุใดกลุ่มขบวนการต่อต้านชาวมุสลิมถึงไม่ได้รับการเปิดโปง หรือถูกจับ รวมทั้งได้รับอนุญาตให้ทำกิจกรรมรณรงค์ สร้างความเข้าใจที่ผิดๆระหว่างชาวพุทธและมุสลิมต่อไป ทั้งๆที่เป็นต้นเหตุของความรุนแรง

ขณะที่อาจารย์ สุลักษณ์ ศิวลักษณ์ ในฐานะผู้ก่อตั้งองค์กรเครือข่ายนานาชาติพุทธศาสนิกสัมพันธ์เพื่อสังคม กล่าวว่า ในความเชื่อของพระพุทธศาสนานั้นจุดสูงสุดคือการบรรลุนิพพานที่ต้องก้าวผ่านหรือเอาชนะความกลัวไปให้ได้ แต่การขบวนการชาวพุทธที่ใช้ความรุนแรงในพม่านั้นยังก้าวไม่พ้นความกลัว

อาจารย์ ส. ศิวลักษณ์ กล่าวว่า เมื่อคนยังมีความหวาดกลัว ก็ย่อมมีโอกาสที่จะใช้ความรุนแรง มีความโลภ และหลงเชื่อในสิ่งผิด น่าเสียดายที่สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นกับผู้คนในหลายประเทศไม่ใช่เฉพาะในพม่าเท่านั้น ในประเทศไทย ศรีลังกา ที่มีชาวพุทธเป็นส่วนใหญ่ก็ยังมีผู้คนจำนวนมากที่ให้ร้ายผู้อื่นเมื่อเกิดความกลัว แทนที่จะกล่าวโทษตัวเอง

เมื่อยังมีความหวาดกลัว ก็ย่อมมีโอกาสที่จะใช้ความรุนแรง มีความโลภ และหลงเชื่อในสิ่งผิด น่าเสียดายที่สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นกับผู้คนในหลายประเทศไม่ใช่เฉพาะในพม่าเท่านั้น ในไทย ศรีลังกา ที่มีชาวพุทธเป็นส่วนใหญ่ก็ยังมีผู้คนจำนวนมากที่ให้ร้ายผู้อื่นเมื่อเกิดความกลัว แทนที่จะหันมามองความผิดของตัวเอง
สุลักษณ์ ศิวลักษณ์
ขณะที่สัปดาห์ที่ผ่านมาประธานาธิบดี เต็ง เส่ง กล่าวปราศัยผ่านสถานีโทรทัศน์ของรัฐบาลพม่าเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่าทำมุกวิถีทางที่จะให้เกิดสันติภาพระหว่างชาวพุทธและชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมในพม่า และให้คำมั่นว่าจะปกป้องสิทธิของชาวมุสลิมในรัฐระขิ่น ซึ่งรวมไปถึงการเพิ่มกำลังของเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเป็นสองเท่า แต่กลุ่มนักสิทธิมนุษยชนยังแสดงความกังวลว่าการเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยที่ปราศจากการอธิบายในรายละเอียดอาจถือเป็นความผิดพลาดเพราะอาจมีความเป็นไปได้ที่เจ้าหน้าที่ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธจะมีส่วนร่วมกับเหตุการณ์รุนแรงที่มีต่อชาวชนกลุ่มน้อยมุสลิมเหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วก็ได้