Your browser doesn’t support HTML5
ขณะนี้สนามบินต่างๆ ในเมืองสำคัญทั่วโลกเพิ่มระดับการรักษาความปลอดภัยภายหลังจากเหตุการณ์ก่อการร้ายที่กรุงบรัสเซลส์เมื่อวันอังคาร
นักวิเคราะห์บางคนกล่าวว่า เหตุการณ์ครั้งนี้อาจทำให้รูปแบบการตรวจผู้โดยสารที่สนามบินเปลี่ยนไปครั้งสำคัญ เพราะความสูญเสียที่เกิดขึ้นเป็นเครื่องเตือนใจว่าผู้ก่อการร้ายมุ่งเป้าทำร้ายเหยื่อที่เป็นบุคคลทั่วไปในสถานที่สาธารณะ
ในโศกนาฏกรรมเมื่อวันอังคาร มือระเบิดพลีชีพสังหารเหยื่อที่สนามบินและสถานีรถไฟ ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อยสามสิบคนและบาดเจ็บกว่าสองร้อยคน
Shashank Joshi นักวิเคราะห์ที่ทำงานวิจัยอยู่ที่สถาบันศึกษานโยบายของอังกฤษ Royal United Services Institute กล่าวว่าเหตุการณ์ครั้งล่าสุดนี้ ทำให้นึกถึงเมื่อ 31 ปีก่อนที่กลุ่มปาเลสไตน์ยิงสังหารคนที่กำลังเช็คอิน 19 คนก่อนขึ้นเครื่องสายการบิน El Al ที่สนามบินในกรุงโรมและกรุงเวียนนา
เขากล่าวว่าเหตุการณ์ที่บรัสเซลส์คล้ายกับการก่อการร้ายเมื่อสามทศวรรษก่อนที่ว่าเหยื่อเป็นผู้คนที่สนามบิน ซึ่งเป็นการสังหารไม่เลือกหน้าและอยู่ในสถานที่ที่ก่อเหตุได้ไม่ยาก ซึ่งผู้เสียชีวิตไม่สามารถป้องกันตัวได้
เขาเชื่อว่าเจ้าหน้าที่รักษาความมั่นคงน่าจะต้องคุยกันว่า ควรใช้มาตรการตรวจค้นที่สนามบินในยุโรปและสหรัฐฯ ก่อนคนเดินเข้าอาคารผู้โดยสารหรือไม่
ทั้งนี้มาตรการลักษณะนี้ได้ถูกใช้ในสนามบินหลายแห่งของตะวันออกกลางและเอเชียในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตามวิธีดังกล่าวจะเกิดขั้นตอนเพิ่มขึ้นที่สนามบินที่มีคนพลุกพล่านอยู่แล้ว และนักวิเคราะห์ Joshi บอกด้วยว่าผู้ก่อการร้ายยังคงสามารถสร้างความปั่นป่วนในส่วนนอกอาคารได้โดยไม่ต้องผ่านจุดตรวจที่ทางเข้า
ดังนั้นเขาจึงย้ำถึงความจำเป็นที่ต้องเน้นความปลอดภัยในจุดอ่อนไหวที่เครื่องบินด้วย เพราะความสูญเสียจะเกิดขึ้นอย่างรุนแรงหากแผนของผู้ก่อการร้ายประสบความสำเร็จ
Your browser doesn’t support HTML5
เมื่อวานนี้ทางการสหรัฐฯ ประกาศว่าได้เพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยที่สนามบินและระบบขนส่งมวลชนต่างๆ แต่รัฐมนตรีการทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิของสหรัฐฯ ไม่ได้ให้รายละเอียดว่ามีมาตรการอะไรบ้าง
ส่วนที่อังกฤษ สนามบิน Heathrow และ Gatwick เพิ่มระดับการเฝ้าระวังและใช้วิธีให้ตำรวจลงพื้นที่ โดยคนทั่วไปจะเห็นได้ถึงความเข้มข้นของการรักษาความปลอดภัย
และท่ามกลางทางเลือกต่างๆ ที่เจ้าหน้าที่ในหลายประเทศกำลังพิจารณาอยู่ วิธีหนึ่งคือการจัดพื้นที่ตรวจความปลอดภัยที่ทางเข้า
อย่างไรก็ตามหน่วยงาน Airports Council International Europe กล่าวว่าแนวทางนี้จะนำไปสู่การใช้พื้นที่ที่อาจไม่ได้ถูกออกแบบมาอย่างเหมาะสม และอาจทำให้การจัดการผู้โดยสารขาดความต่อเนื่อง
นอกจากนั้นยังอาจเปิดจุดอ่อนในการสอดส่องผู้ต้องสงสัยหากพื้นที่ไม่เอื้ออำนวย
วิธีที่น่าจะได้ความความสำคัญทั้งในทางปฏิบัติและเชิงงบประมาณ น่าจะเป็นการเก็บข้อมูลและสอดแนมผ่านระบบการสื่อสาร
แม้ว่าวิธีดังกล่าวกำลังถูกวิจารณ์เพิ่มขึ้นจากประชาชนทั่วไปที่กังวลต่อความเป็นส่วนตัวของข้อมูลส่วนบุคคลของตน
(รายงานโดย Jamie Detmer / เรียบเรียงโดย รัตพล อ่อนสนิท)