งานวิจัยชี้การรักษาสุขภาพ 'ปาก' มีผลดีต่อสุขภาพ 'ใจ'

Your browser doesn’t support HTML5

Brush Teeth Healthy Heart

เรื่องสุขภาพของช่องปากที่มีผลต่อสุขภาพของส่วนอื่นของร่างกายอาจจะเป็นสิ่งที่เราเคยได้ยินได้ฟังกันมาบ้างแล้ว

แต่ผลการศึกษาซึ่งเผยแพร่ทางวารสารวิชาการเกี่ยวกับโรคหัวใจของยุโรปชื่อ Journal of Preventive Cardiology เมื่อต้นเดือนธันวาคม จากการตรวจสอบข้อมูลสุขภาพของชาวเกาหลีกว่า 161,000 คน อาจจะช่วยย้ำความสนใจเรื่องนี้ได้

การศึกษาที่ว่านี้ติดตามข้อมูลด้านสุขภาพของชาวเกาหลีใต้อายุระหว่าง 40 – 79 ปีเป็นเวลา 10 ปีครึ่ง โดยเป็นการรวบรวมข้อมูลในทุกด้าน ตั้งแต่รูปแบบการใช้ชีวิต ปัญหาความเจ็บป่วย รวมทั้งสุขภาพของช่องปากด้วย

ผลการศึกษาสรุปว่า ผู้ที่ดูแลสุขภาพของช่องปากเป็นอย่างดี เช่น แปรงฟันวันละหลาย ๆ ครั้งจะลดโอกาสความเสี่ยงของโรคหัวใจล้มเหลวและอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือ atrial fibrillation ลงได้

โดยนักวิจัยพบว่าผู้ที่แปรงฟันอย่างน้อยวันละสามครั้งจะมีความเสี่ยงเรื่องหัวใจเต้นผิดจังหวะน้อยลง 10% และลดความเสี่ยงของหัวใจล้มเหลวลงได้ 12%

ผลการศึกษาก่อนหน้านี้เคยพบว่า การละเลยไม่ดูแลสุขภาพช่องปากนั้นเพิ่มจำนวนเชื้อแบคทีเรียในกระแสเลือดซึ่งทำให้เกิดภาวะอักเสบในร่างกายหรือ inflammation รวมทั้งเพิ่มความเสี่ยงของอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะและหัวใจล้มเหลวด้วย

การศึกษาของสมาคมโรคหัวใจอเมริกันเมื่อปีที่แล้วให้ข้อมูลว่า เราควรแปรงฟันสองครั้งต่อวันเป็นอย่างน้อย โดยใช้เวลาครั้งละ 2 นาทีเพื่อลดความเสี่ยงเกี่ยวกับหัวใจดังกล่าว และนอกจากการแปรงฟันแล้วการดูแลรักษาสุขภาพเหงือกก็สำคัญเช่นกัน เพราะหากฟันดีแต่เหงือกอักเสบ โอกาสที่จะเกิดภาวะอักเสบในร่างกายรวมทั้งโรคหัวใจก็ยังมีอยู่ โดยการดูแลสุขภาพเหงือกนั้นจะต้องใช้ไหมขัดฟันอย่างน้อยวันละครั้ง

อย่างไรก็ตาม แม้ผลการศึกษาครั้งนี้จะให้ภาพเกี่ยวกับสุขภาพของช่องปากและสุขภาพของหัวใจ แต่นักวิจัยบางคนก็เตือนว่าข้อมูลดังกล่าวมาจากคนในประเทศเดียวและเป็นข้อมูลในเชิงสังเกต ซึ่งยังไม่สามารถพิสูจน์ถึงสาเหตุและผลได้

แต่ถึงแม้รายงานการศึกษาชิ้นนี้จะยังไม่สามารถอธิบายความเป็นเหตุและผลเรื่องสุขภาพของปากกับสุขภาพหัวใจ เพราะเพียงแสดงถึงความเกี่ยวโยง แต่อย่างน้อยข้อมูลดังกล่าวก็อาจจะช่วยเตือนใจว่าผู้ที่อยากมีสุขภาพหัวใจที่แข็งแรงควรต้องเริ่มจากการรักษาความสะอาดของเหงือกและฟัน