สภาผู้แทนอังกฤษปฏิเสธการแยกตัวจากอียูโดยไม่มีข้อตกลงล่วงหน้า

Tellers announce the results of the vote on Brexit in Parliament in London, Britain, March 13, 2019, in this image taken from video.

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของอังกฤษลงมติในวันพุธในสัดส่วน 312 - 308 ปฏิเสธการแยกตัวจากสหภาพยุโรปโดยไม่มีข้อตกลงล่วงหน้าในทุกกรณี ซึ่งจะนำไปสู่การลงมติอีกครั้งในวันพฤหัสบดีนี้ ว่าจะมีการยืดเวลาสำหรับการแยกตัวของอังกฤษจากอียูออกไปหรือไม่

หลังจากการเจรจายาวนาน 2 ปีครึ่ง ในที่สุดนายกรัฐมนตรี เธเรซ่า เมย์ ก็ยังไม่สามารถผลักดันข้อตกลง Brexit ให้ผ่านการรับรองของรัฐสภาอังกฤษได้ทันกำหนดเส้นตายวันที่ 29 มีนาคม ทำให้เกิดคววามไม่แน่นอนว่า อังกฤษจะแยกตัวออกจากยุโรปเมื่อไร อย่างไร และมีเงื่อนไขอะไรบ้าง

หลังจากการลงมติครั้งล่าสุด ทำให้อังกฤษมีทางเลือก 4 อย่างในการออกจากอียู คือ หนึ่ง-ชะลอเวลาแยกตัวออกไป, สอง-ข้อตกลง Brexit อาจผ่านการรับรองของรัฐสภาในนาทีสุดท้ายก่อนกำหนดเส้นตายวันที่ 29 มีนาคม, สาม-การออกจากอียูโดยอัตโนมัติ และ สี่-จัดการลงประชามติใหม่อีกครั้ง

ซึ่งหากเป็นทางเลือกที่หนึ่ง คือการชะลอเวลาออกไป อังกฤษก็ต้องได้รับความเห็นชอบจากสมาชิกของอียูทั้ง 27 ประเทศเสียก่อน

ก่อนหน้านี้ นายกฯ เมย์ พยายามโน้มน้าวให้สมาชิกรัฐสภาอังกฤษ ยอมรับข้อตกลงฉบับนี้ ซึ่งเธอได้เจรจากับประธานคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป ฌอง คล็อด ยุงเคอร์ เป็นผลสำเร็จเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา เพื่อรับประกันว่าจะมีการเปิดพรมแดนระหว่างไอร์แลนด์ซึ่งเป็นสมาชิกของ EU กับไอร์แลนด์เหนือซึ่งเป็นหนึ่งในเครือจักรภพอังกฤษ ภายหลังจากที่อังกฤษแยกตัวออกจาก EU แล้ว

ด้านนายเจเรมี คอร์บิน (Jeremy Corbyn) ผู้นำพรรคแรงงานอังกฤษ ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้าน เรียกร้องให้นายกฯ เมย์ ลงจากตำแหน่ง และมีการเลือกตั้งใหม่ หลังจากที่เธอพ่ายแพ้ในการลงมติในข้อตกลง Brexit อย่างถล่มทลายมาแล้วถึงสองครั้ง