เลือกตั้งอังกฤษสุดคู่คี่ พรรคอนุรักษ์นิยมและพรรคแรงงานต่างลุ้นโอกาสจัดตั้งรัฐบาล

Britain's Prime Minister and Conservative Party leader David Camer speaks to supporters in Twickenham, London, Tuesday May 5, 2015. (AP Photo/Peter Nicholls, Pool)

ชาวอังกฤษเข้าคูหาเลือกสมาชิกสภาล่างหรือ House of Commons จำนวน 650 ที่นั่งในการเลือกตั้งที่คาดเดาผลได้ยากที่สุดครั้งหนึ่งของอังกฤษ

Your browser doesn’t support HTML5

เลือกตั้งอังกฤษสุดคู่คี่

An advertising van with images of Britain's Prime Minister David Cameron and leader of the opposition Labour Party Ed Miliband drives around Parlaiment Square, central London, Britain, May 7, 2015. REUTERS/Phil Noble - RTX1BXSZ

ผลสำรวจคะแนนนิยมก่อนการเลือกตั้งทั่วประเทศในอังกฤษในวันพฤหัสบดี ชี้ให้เห็นว่าพรรคอนุรักษ์นิยมของนายกฯ David Cameron จะได้ที่นั่งใน House of Commons หรือสภาล่างของอังกฤษ ลดลงราว 20-30 ที่นั่งและอาจทำให้พรรคอนุรักษ์นิยมสูญเสียการครองเสียงส่วนใหญ่ในสภาฯ แม้จะมีเสียงสนับสนุนเพิ่มเติมจากพรรคพันธมิตรในขณะนี้ คือพรรคเสรีประชาธิปไตย

ส่วนพรรคแรงงานของนาย Ed Milliband ซึ่งเป็นผู้นำฝ่ายค้านคนปัจจุบัน ได้รับการคาดหมายว่าจะได้ที่นั่งพอๆ กับพรรคอนุรักษ์นิยม โดยนักวิเคราะห์คาดว่านาย Milliband จะสามารถหาพรรคพันธมิตรได้ง่ายกว่า และอาจจะได้เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่

ศาสตราจารย์ Tony Travers แห่ง London School of Economics ให้ความเห็นว่า มีความเป็นไปได้สูงที่พรรคการเมืองซึ่งได้ที่นั่งมากที่สุดจะไม่ได้ครองเสียงส่วนใหญ่ในสภาฯ ศาสตราจารย์ Travers ระบุว่าหากเกิดกรณีเช่นนั้นขึ้นจริง ก็จะเป็นเรื่องง่ายกว่าสำหรับพรรคแรงงานของนาย Ed Milliband ในการรวบรวมพันธมิตรเพื่อให้ได้เป็นฝ่ายจัดตั้งรัฐบาล เนื่องจากมีพรรคที่พร้อมจะทำงานร่วมกับพรรคแรงงานมากกว่าพรรคอนุรักษ์นิยม

Britain's opposition Labour Party leader Ed Miliband leaves after a campaign event in Colne, northern England, May 6, 2015.

พรรคที่ถูกจับตามองว่าจะเป็นกุญแจสำคัญสำหรับผู้ที่จะได้เป็นฝ่ายจัดตั้งรัฐบาล คือพรรค Scottish National ของชาวสก็อต โดยหัวหน้าพรรคคือ Nicola Sturgeon ได้ประกาศไว้ชัดเจนว่า เธอจะพยายามทุกวิถีทางเพื่อขัดขวางไม่ให้พรรคอนุรักษ์นิยมได้เป็นฝ่ายจัดตั้งรัฐบาล

ด้านผู้เชี่ยวชาญการเมืองอังกฤษชี้ว่า จุดยืนที่ขัดแย้งของพรรคการเมืองต่างๆ อาจส่งผลให้เกิดการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายในสภา และทำให้รัฐบาลอังกฤษชุดใหม่ไร้เสถียรภาพ อีกทั้งการที่พรรคแรงงานซึ่งเป็นเสียงส่วนน้อยได้จัดตั้งรัฐบาลด้วยแรงสนับสนุนของพรรค Scottish ก็หมายความว่าการผ่านร่างกฏหมายต่างๆ ทุกครั้งจะต้องมีการเจรจาต่อรอง หรือไม่เช่นนั้นชาวอังกฤษก็อาจต้องเดินเข้าคูหาเลือกตั้งอีกครั้ง ก่อนที่สมาชิกสภาล่างชุดนี้จะหมดวาระลงในอีก 5 ปีข้างหน้า

ความกังวลดังกล่าวสะท้อนออกมาในความเห็นของชาวอังกฤษหลายคนที่เดินเข้าคูหาเลือกตั้งในวันพฤหัสบดี คุณ Linda หนึ่งในผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนกล่าวว่า ปกติแล้วเธอเดินเข้าคูหาเลือกตั้งอย่างมั่นใจว่าจะลงคะแนนให้ใคร แต่ครั้งนี้เป็นการตัดสินใจที่ยากเหลือเกิน

Scotland's First Minister, and leader of the Scottish National Party Nicola Sturgeon, speaks during First Minister's questions at the Scottish Parliament in Edinburgh, May 6, 2015.

ปัจจัยสำคัญที่สุดที่มีผลต่อการตัดสินใจของประชาชนผู้ลงคะแนนคือเรื่องเศรษฐกิจ โดยพรรคอนุรักษ์นิยมกล่าวหาว่า พรรคแรงงานเป็นผู้สร้างสมหนี้สินมหาศาลเอาไว้ในช่วงที่เป็นรัฐบาล จนทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยเมื่อปี ค.ศ 2008 ขณะที่พรรคแรงงานก็โต้กลับว่านโยบายของพรรคอนุรักษ์นิยมในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ได้ทำให้บริการของภาครัฐลดลงมาก

อย่างไรก็ดี ศาสตราจารย์ Simon Hix แห่ง London School of Economics ชี้ว่าทั้งสองพรรคมีจุดยืนด้านนโยบายเศรษฐกิจที่ต่างกันมาก ซึ่งถือเป็นทางเลือกที่ชัดเจนให้กับประชาชน ศาสตราจารย์ Simon Hix ระบุว่าพรรคอนุรักษ์นิยมมีนโยบายชัดเจนว่าจะลดค่าใช้จ่ายของรัฐบาล ตามเป้าหมายลดยอดขาดดุลงบประมาณลงในช่วง 5 ปีข้างหน้า ขณะที่พรรคแรงงานต้องการให้มีการลดงบประมาณช้าลง และเพิ่มงบประมาณให้กับบริการด้านสาธารณสุขและบริการสังคมอื่นๆมากขึ้น ซึ่งเป็นนโยบายที่แตกต่างกันอย่างยิ่ง

และเนื่องจากคะแนนที่เชื่อว่าจะสูสีกันมาก ผู้เชี่ยวชาญคาดว่าผลการเลือกตั้งครั้งนี้น่าจะประกาศให้ทราบได้ในวันศุกร์นี้ และจะต้องใช้เวลาอีกหลายวันกว่าที่ผู้นำพรรคต่างๆจะสามารถตกลงกันได้เรื่องการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่

ผู้สื่อข่าว Al Pessin รายงานมาจากกรุงลอนดอน / ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียง