'ฮาร์ด เบร็กซิต' อาจพบทางตัน ขณะที่นายกรัฐมนตรีจอห์นสันขู่ยุบสภา

Britain's Prime Minister Boris Johnson speaks to the media outside 10 Downing Street in London, Sept. 2, 2019. Johnson says chances of a Brexit deal are rising .

Your browser doesn’t support HTML5

Britain Brexit Endgame


นายกรัฐมนตรีอังกฤษ บอริส จอห์นสัน พบว่าเป้าหมายการนำอังกฤษแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปในวันที่ 31 ตุลาคมนี้ แม้จะไม่มีข้อตกลงใดๆ หรือที่เรียกว่า Hard Brexit นั้นกำลังมีปัญหา

เพราะส.ส. อังกฤษฝ่ายที่ค้านเรื่องนี้สามารถรวบรวมคะแนนเสียงได้มากพอคือ 328 ต่อ 301 เสียงในสภาผู้แทนราษฎร และเตรียมจะลงคะแนนเพื่อออกกฎหมายห้ามนายกรัฐมนตรีจอห์นสันดำเนินการเรื่องดังกล่าว หรือเลื่อนกำหนดเวลาออกไป

โดยฝ่ายที่ค้าน Hard Brexit ให้เหตุผลว่า หากอังกฤษแยกตัวออกมาโดยไม่มีข้อตกลงแล้วเศรษฐกิจของประเทศจะพินาศย่อยยับ ซึ่งท่าทีและการรวมตัวของส.ส.กลุ่มดังกล่าวทำให้นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน ขู่ว่าตนไม่มีทางเลือกอื่นใดนอกจากจะต้องยุบสภาเพื่อการเลือกตั้งใหม่ก่อนกำหนด

ความเคลื่อนไหวของ ส.ส. อังกฤษ ที่คัดค้านเรื่อง Hard Brexit ตามกำหนดเดิมในวันที่ 31 ตุลาคมนี้ มีขึ้นหลังจากที่รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีจอห์นสันซึ่งมีเสียงข้างมากเหลือเพียงแค่เสียงเดียว ต้องเสียเสียงข้างมากดังกล่าวไปหลังจากที่ ส.ส. ฟิลลิป ลี ของพรรคคอนเซอร์เวทีฟซึ่งเป็นพรรครัฐบาล แปรพักตร์เมื่อวันอังคารไปร่วมออกเสียงกับพรรคฝ่ายค้านที่ต่อต้าน Hard Brexit

เมื่อวันอาทิตย์ นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน ได้ประกาศว่า ถ้า ส.ส. ฝ่ายที่ค้าน Hard Brexit พยายามออกกฎหมายเพื่อปิดกั้นหรือผูกมัดตน ตนก็จะขออนุมัติต่อสภาในวันพุธให้มีการเลือกตั้งใหม่ก่อนกำหนดในวันที่ 14 ตุลาคม โดยคาดหวังว่าพรรคคอนเซอร์เวทีฟซึ่งเป็นพรรครัฐบาลขณะนี้จะได้รับเลือกกลับเข้ามามีที่นั่งในสภามากกว่าในปัจจุบัน

ผลการสำรวจความนิยมพบว่า พรรคคอนเซอร์เวทีฟนั้นได้รับคะแนนนิยมนำหน้าพรรคเลเบอร์ซึ่งเป็นฝ่ายค้านอยู่กว่าสิบเปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีจอห์นสันจะต้องได้เสียงสนับสนุน 2 ใน 3 หรืออย่างน้อย 433 จาก 650 เสียงในสภาล่าง และเรื่องนี้จะเป็นไปไม่ได้หากไม่ได้รับความร่วมมือจากพรรคเลเบอร์ที่เป็นฝ่ายค้านอยู่

ขณะนี้สภาผู้แทนราษฎรของอังกฤษกำลังมีความแตกแยกอย่างหนักในเรื่องการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป โดยฝ่ายที่คัดค้านเรื่อง No-deal Brexit หรือ Hard Brexit อ้างเหตุผลว่า การแยกตัวโดยไม่มีข้อตกลงใดๆ จะเป็นผลเสียร้ายแรงต่อเศรษฐกิจของประเทศ ทำให้เกิดปัญหาชะงักงันทั้งเรื่องการเดินทางและการลำเลียงขนส่งอาหารกับเวชภัณฑ์ต่างๆ ไปยังอังกฤษ และทำให้ต้องกลับไปใช้มาตรการคุมเข้มที่พรมแดนระหว่างไอร์แลนด์เหนือซึ่งอยู่ใต้การปกครองของอังกฤษ กับสาธารณรัฐไอร์แลนด์ซึ่งยังเป็นประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรป

โดยรายงานลับของรัฐบาลอังกฤษที่ออกมาเมื่อเดือนสิงหาคมก็ดูจะยืนยันเรื่องนี้ แต่ฝ่ายที่สนับสนุนเรื่อง Hard Brexit แย้งว่า ความปั่นป่วนวุ่นวายใดๆ หากมีจริงก็จะเกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้นๆ และอังกฤษจะสามารถปรับตัวรับมือได้ในที่สุด

ในขณะที่อนาคตของทั้งเรื่อง Brexit และอนาคตของรัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน ยังเต็มไปด้วยคำถาม ผู้เชี่ยวชาญด้านรัฐธรรมนูญของอังกฤษก็ชี้ว่า ปัญหาขัดแย้งในขณะนี้จะเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงลักษณะความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างสถาบันการเมืองต่างๆ ที่สำคัญของอังกฤษ นับตั้งแต่สภาผู้แทนราษฎร ทำเนียบรัฐบาล และศาล

และไม่ว่าผลลัพธ์ของการเผชิญหน้าทางการเมืองครั้งนี้จะออกมาในรูปใด ก็เชื่อได้ว่าพรรคคอนเซอร์เวทีฟซึ่งเป็นพรรครัฐบาลอังกฤษในขณะนี้ จะต้องพบกับสภาพความเป็นจริงใหม่ที่เปลี่ยนไป หลังจากที่มี ส.ส.ระดับนำหลายคนไม่พอใจในแนวนโยบายและการจัดการกับปัญหาเรื่อง Brexit และได้แยกตัวออกไปตั้งพรรคใหม่