Your browser doesn’t support HTML5
มะเร็งเต้านมเป็นหนึ่งในบรรดามะเร็งชนิดร้ายแรงที่ทำให้ผู้หญิงเสียชีวิตกันมากที่สุด แต่หากตรวจพบแต่เนิ่นๆ สามารถรักษาให้หายด้วยการผ่าตัดก้อนเนื้อมะเร็งทิ้ง และใช้เคมีบำบัดซึ่งจะช่วยกำจัดเซลล์มะเร็งร้ายที่อาจจะหลงเหลืออยู่ในร่างกายให้หมด
แต่มีผู้ป่วยหลายคนที่ผ่านการรักษาจนหายแล้ว กลับไปเป็นมะเร็งเต้านมอีก และเซลล์มะเร็งได้ลุกลามไปยังอวัยวะอื่นๆ ที่อยู่ห่างจากจุดมะเร็งดั้งเดิม รวมทั้งตับและสมอง
คุณ Nicholas Turner ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งแห่งสถาบัน Cancer Research ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษชี้ว่า การรักษาด้วยเคมีบำบัดใช้ไม่ได้ผลกับผู้ป่วยทุกคนเสมอไป เขาบอกว่าจำเป็นต้องมีวิธีการตรวจที่ช่วยวิเคราะห์ได้ว่ายังมีเซลล์มะเร็งหลงเหลือในร่างกายของผู้ป่วยหรือไม่ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการรักษาอย่างต่อเนื่อง
ในรายงานที่ตีพิมพ์ในวารสาร Science Translational Medicine คุณ Turner ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งในอังกฤษและทีมงานเปิดเผยว่า ได้ค้นพบวิธีตรวจหาดีเอ็นเอที่ไหลเวียนอยู่ในกระแสเลือดของผู้ป่วยที่ผ่านการผ่าตัดและเคมีบำบัดจนหายแล้ว
ทีมนักวิจัยได้ตรวจตัวอย่างเลือดจากผู้หญิง 55 คนที่เป็นมะเร็งเต้านมในระยะเริ่มต้น และผ่านการผ่าตัดก้อนมะเร็งและเคมีบำบัดจนถือว่าปลอดมะเร็งแล้ว
ทีมนักวิจัยพบว่าผู้หญิงในการศึกษานี้อย่างน้อย 15 คนกลับไปเป็นมะเร็งอีก แต่ทีมนักวิจัยตรวจพบดีเอ็นเอของมะเร็งในผู้หญิงราว 12 คนในช่วงราว 8 เดือนโดยเฉลี่ย ก่อนหน้าที่จะตรวจพบก้อนมะเร็งด้วยการทำแมมโมแกรมหรือการตรวจวิธีอื่นๆ ที่ใช้
คุณ Turner กล่าวว่ามาถึงขณะนี้ ยังไม่มีวิธีบำบัดผู้ป่วยมะเร็งทรวงอกที่มะเร็งหวนคืนและแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ
เขากล่าวว่าไม่สามารถรักษาผู้ป่วยที่มะเร็งหวนคืนให้หายขาดจากมะเร็งได้ เขาคิดว่าจำเป็นต้องคิดค้นหาวิธีที่ช่วยตรวจหาเซลล์มะเร็งที่หวนคืนได้เร็วขึ้นกว่าเดิม โดยต้องเป็นช่วงที่มีจำนวนเซลล์มะเร็งในร่างกายน้อยอยู่เพื่อเพิ่มโอกาสของการบำบัดรักษาให้หายขาด