Your browser doesn’t support HTML5
ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่ามาจนถึงขณะนี้ มีการปลูกถ่ายไขกระดูกราว 1 ล้านกว่าครั้งใน 75 ประเทศทั่วโลกตั้งแต่มีการบำบัดด้วยวิธีนี้ครั้งแรกในสหรัฐเมื่อ 50 ปีที่แล้ว
คุณ Dietger Neiderweiser ศาสตราจารย์ด้านโรคมะเร็งที่มหาวิทยาลัย Leipzig ในประเทศเยอรมนีกล่าวว่า ถือว่าเป็นจำนวนครั้งของการบำบัดที่ไม่มากนักทั้งๆ ที่เป็นการรักษาที่สามารถช่วยให้ผู้ป่วยรอดชีวิต
เขากล่าวว่าโรคมะเร็งเม็ดเลือดเป็นโรคที่มีโอกาสหายได้ 90-95 เปอร์เซ็นต์หากผู้ป่วยได้รับการบำบัดแต่เนิ่นๆ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การจะปลูกถ่ายไขกระดูกได้ ก็ต้องก็ขึ้นอยู่กับผู้บริจาคที่เหมาะสม ความก้าวหน้าของโรคและอายุของผู้ป่วย
เซลล์เม็ดเลือดแดง เซลล์เม็ดเลือดขาวและเกล็ดเลือดผลิตขึ้นโดยเซลล์เริ่มต้นหรือสะเต็มเซลล์ที่อยู่ในไขกระดูกซึ่งเป็นเนื้อเยื่อฟองน้ำที่พบภายในกระดูก
การปลูกถ่ายไขกระดูกสามารถทำได้ด้วยการปลูกถ่ายไขกระดูกจากผู้บริจาคที่เข้ากันได้กับผู้ป่วยหรือการปลูกถ่ายไขกระดูกของผู้ป่วยเองโดยต้องผ่านการฟอกเสียก่อน การบำบัดแบบนี้เป็นทดแทนเซลล์ที่เป็นโรคลิวคีเมีย มะเร็งเลือดและมะเร็งต่อมน้ำเหลืองซึ่งเป็นมะเร็งในระบบเลือดอีกชนิดหนึ่ง
สำหรับผู้ป่วยจำนวนมาก การบำบัดด้วยการปลูกถ่ายไขกระดูกนี้เป็นหนทางสุดท้ายของการรักษา
คุณ Neiderweiser และทีมนักวิจัยได้วิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับการปลูกถ่ายไขกระดูกในทั่วโลกซึ่งเป็นข้อมูลที่จัดเก็บโดยของเครือข่าย Worldwide Network for Blood and Marrow Transplantation ทีมงานพบว่าประเทศในยุโรป มีการปลูกถ่ายไขกระดูกมากที่สุดตามมาด้วยสหรัฐอเมริกาและราว 15 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือเกิดขึ้นในหลายประเทศทั้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมดิเตอร์เรเนี่ยน แปซิฟิกตะวันตกและในแอฟริกา
คุณ Neiderweiser กล่าวว่าประเทศกำลังพัฒนาจำนวนมากมีเงินทุนในการจัดตั้งโครงการปลูกถ่ายไขกระดูก แต่ขาดแคลนธนาคารเลือดและความเชี่ยวชาญในการเสนอการรักษาที่ซับซ้อนแก่คนไข้ที่มีอาการเจ็บป่วยแล้ว เขากล่าวว่าจำเป็นต้องช่วยเหลือประเทศที่ยังขาดแคลนการปลูกถ่ายไขกระดูกให้พัฒนาบริการทางการแพทย์นี้เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการผ่าตัดรักษาที่จำเป็นนี้
ทีมนักวิจัยยังเรียกร้องให้มีความร่วมมือระหว่างบรรดาโรงพยาบาลที่ปลูกถ่ายไขกระดูกในชาติตะวันตกและบรรดาแพทย์ในประเทศกำลังพัฒนาที่ต้องการเรียนรู้ขั้นตอนการปลูกถ่ายไขกระดูก