การตรวจเลือดวิธีใหม่อาจปฏิรูปการบำบัดรักษาโรคมะเร็ง

  • Carol Pearson
    ประภัสสร อักขราสา

การตรวจเลือดวิธีใหม่อาจปฏิรูปการบำบัดรักษาโรคมะเร็ง

พัฒนาการในงานวิจัยโรคมะเร็งที่น่าตื่นเต้นที่สุดในรอบ 10 ปี คือการตรวจหามะเร็งวิธีใหม่ด้วยการตรวจเลือด ซึ่งอาจปฏิรูปการบำบัดรักษาโรคนี้ นักวิจัยอธิบายว่า ขณะที่เนื้องอกที่เป็นเนื้อร้ายเติบโตขยายตัว ก้อนเนื้องอกนั้นจะปล่อยเซลมะเร็งออกไปตามกระแสเลือด การตรวจเลือดแบบใหม่ดังกล่าวมีความละเอียดสูง สามารถตรวจพบร่องรอยที่แม้จะมีเพียงน้อยนิดของเซลมะเร็งที่ไหลเวียนอยู่ในกระแสเลือดได้ ขณะที่การตรวจต่างๆ ที่มีอยู่ ได้ผลช้า แต่การตรวจแบบใหม่นี้ แพทย์จะทราบทันทีว่า ผู้ป่วยยังมีมะเร็งเนื้อร้ายอยู่หรือไม่ ซึ่งจะทำให้มีแนวทางที่ดีขึ้นและมีความแม่นยำขึ้นในการติดตามผลผู้ป่วย และสามารถตรวจพบการกลับมาของโรคได้เร็วขึ้น และทำการบำบัดรักษาได้อย่างถูกต้องเหมาะสมและทันการณ์

ขณะนี้ กำลังมีการทดลองวิธีการตรวจเลือดวิธีใหม่เพื่อตรวจหาเซลมะเร็งที่ศูนย์บำบัดโรคมะเร็ง 4 แห่งในสหรัฐ เทคนิควิธีการใหม่นี้ นักวิจัยที่โรงพยาบาลกลาง Massachusetts General Hospital ที่นครบอสตันเป็นผู้พัฒนาขึ้นมา

นักวิจัยอธิบายว่า ขณะที่เนื้องอกที่เป็นเนื้อร้ายเติบโตขยายตัว ก้อนเนื้องอกนั้นจะปล่อยเซลมะเร็งออกไปตามกระแสเลือด การตรวจเลือดแบบใหม่ดังกล่าวมีความละเอียดสูง สามารถตรวจพบร่องรอยที่แม้จะมีเพียงน้อยนิดของเซลมะเร็งที่ไหลเวียนอยู่ในกระแสเลือดได้

นายแพทย์ Dennis Haber นักวิจัยที่โรงพยาบาลกลาง Massachusetts กล่าวว่า เซลมะเร็งเซลหนึ่งๆ ในกระแสโลหิตอาจอยู่ในเซลเม็ดโลหิตราว 1 พันล้านเซล การที่จะหาเซลๆ หนึ่งในเซลนับพันล้านเซลเช่นนั้น จึงเป็นงานละเอียดอ่อนและยากลำบากมาก

ในการตรวจเลือดแบบใหม่นี้ นักวิจัยจะนำตัวอย่างเลือดมาผ่านบนแผ่นไมโครชิพที่ใช้กาวพิเศษทาไว้ นายแพทย์ Mehmet Toner นักวิจัยอีกคนหนึ่งอธิบายว่า เซลทั้งหมดที่ผ่านบนแผ่นไมโครชิพนั้น จะมีแต่เซลมะเร็งเท่านั้นที่แผ่นไมโครชิพจะตรวจจับได้และเซลนั้นจะติดอยู่บนแผ่นชิพดังกล่าว ขณะที่เซลปกติดีๆ จะผ่านออกไป เป็นที่หวังกันว่า ด้วยการตรวจวัดจำนวนและชนิดของเซลมะเร็งในเลือดด้วยวิธีนี้ แพทย์จะสามารถบอกได้ว่า การบำบัดที่ผู้ป่วยได้รับอยู่ ทำงานได้ผลอย่างไรหรือไม่

นักวิจัยอธิบายว่า การตรวจที่ทำอยู่ตอนนี้ อย่างการฉาย X-rays, CT Scan, MRI หรือ การทำ Biopsy เพื่อดูว่า มะเร็งหดตัวหรือหายไปหรือไม่นั้น ต้องใช้เวลานาน บางทีเป็นเดือนๆ กว่าจะบอกได้ว่า การบำบัดได้ผลอย่างไรหรือไม่ ทำให้เสียเวลาสำคัญอย่างยิ่งในการบำบัดในรายที่เนื้อร้ายลุกลามต่อไป แต่ด้วยการตรวจแบบใหม่นี้ แพทย์จะทราบได้ทันทีว่า ผู้ป่วยยังมีมะเร็งเนื้อร้ายอยู่หรือไม่ ซึ่งจะทำให้มีแนวทางที่ดีขึ้นและมีความแม่นยำขึ้นในการติดตามผลผู้ป่วย และสามารถตรวจพบการกลับมาของโรคได้เร็วขึ้น และทำการบำบัดรักษาได้อย่างถูกต้องเหมาะสมและทันการณ์

ตอนนี้ การทดลองจำกัดเฉพาะผู้ป่วย แต่เทคโนโลยีนี้กำลังทำให้มีคำถามขึ้นมาว่า จะสามารถพัฒนาการตรวจเลือดเพื่อหาเซลมะเร็งสำหรับผู้ที่ดูมีสุขภาพปกติดีได้หรือไม่

แพทย์หญิง Susan Love ผู้เชี่ยวชาญมะเร็งทรวงอกแห่งมูลนิธิ Dr. Susan Love Foundation กล่าวว่า คนเราล้วนมีเซลมะเร็งอยู่ในร่างกายกันทั้งนั้น ซึ่งเป็นเซลที่สงบไม่ได้ก่อปัญหา สิ่งที่จะต้องระวังอย่างมากในการใช้เทคนิคใหม่นี้ก็คือ การที่ไปจัดการกับเซลมะเร็งที่สงบเหล่านั้นมากเกินไป ขณะที่ต้องการจัดการกับเซลมะเร็งทุกเซลที่ตรวจพบ

คาดว่าการทดลองเทคโนโลยีใหม่นี้จะดำเนินไปเป็นเวลา 5 ปี ซึ่งระหว่างที่รอผลการทดลองและรอให้วิธีการใหม่นี้พร้อมใช้งานได้จริงๆ อยู่นี้ แพทย์เตือนให้มีความระมัดระวังคอยตรวจตราความผิดปกติต่าง ของร่างกาย นายแพทย์ Elmer Hueter แห่งศูนย์การแพทย์ Washington Hospital เตือนว่า มะเร็งนั้นเกิดขึ้นเงียบๆ และแม้ว่า วิธีการตรวจที่ใช้อยู่จะไม่สมบูรณ์มีข้อบกพร่องอยู่ แต่ก็เป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่จะใช้ในการตรวจหามะเร็งให้พบแต่เนิ่นๆ อย่าง mammograms, pap smeres, colonoscopies และการตรวจต่อมลูกหมาก เป็นต้น แล้วก็ไปหาแพทย์ให้แพทย์ตรวจด้วย