ในระหว่างการเยือนไทยอย่างเป็นทางการ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ แอนโทนี บลิงเคน กล่าวประณามนโยบายปราบปรามผู้เห็นต่างของรัฐบาลทหารเมียนมา และเรียกร้องให้จีนรวมทั้งสมาชิกอาเซียนร่วมกดดันกองทัพเมียนมาให้ทำการฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตยและปฏิบัติตามข้อตกลงสันติภาพที่ได้ตกลงไว้ตั้งแต่เมื่อปีที่แล้วด้วย
ในระหว่างการแถลงข่าวที่กรุงเทพฯ รมต.บลิงเคน กล่าวว่า ตนคิดว่า “มันเป็นหน้าที่ของจีนและผลประโยชน์ของจีน ที่จะเห็นพม่า กลับคืนสู่เส้นทางที่เคยดำเนินมาก่อนหน้าที่จะถูกสกัดกั้นอย่างรุนแรงโดยเหตุรัฐประหาร”
รมต.ต่างประเทศสหรัฐฯ ยังย้ำด้วยว่า แม้ว่า อาเซียนจะบรรลุฉันทามติ 5 ข้อให้กับเมียนมาเมื่อปีที่แล้ว จวบจนวันนี้ “ยังไม่มีพัฒนาการเชิงบวกในด้านนี้เลย”
เมื่อเดือนเมษายนของปีที่แล้ว สมาชิก 9 ประเทศของอาเซียนและพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ของเมียนมาได้ลงนามในข้อตกลงดังกล่าวที่มีเงื่อนไขระบุว่า กองทัพเมียนมาต้องยุติการใช้ความรุนแรงทันทีและเดินหน้าพูดคุยกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องด้วย
SEE ALSO: ที่ประชุมสุดยอด 'อาเซียน' บรรลุข้อตกลง 5 ข้อเกี่ยวกับเมียนมา
รมต.บลิงเคน กล่าวว่า “ประเทศอาเซียนจำเป็นต้องทำให้รัฐบาลทหาร(เมียนมา)รับผิดชอบในเรื่องนี้ ... และเดินหน้าเรียกร้องให้มีการยุติการใช้ความรุนแรงและปล่อยตัวนักโทษด้วย”
ทั้งนี้ รมต.ต่างประเทศสหรัฐฯ ย้ำว่า ในเวลานี้ ยังไม่เห็นพัฒนาการเชิงบวกใด ๆ จากเมียนมา แต่กลับเห็นการใช้ความรุนแรง และยังมีการจับฝ่ายต่อต้านไปขังในเรือนจำหรือไม่ก็ การลี้ภัยของฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามกับรัฐบาลทหารอยู่อย่างต่อเนื่อง
นอกจากนั้น รมต.บลิงเคน ยังกล่าวว่า “ทุกประเทศต้องเดินหน้าออกมาพูดให้ชัดเจนถึงสิ่งที่เกิดขึ้นเมียนมา รวมทั้งการปราบปรามและการใช้ความรุนแรงโหดร้ายที่ยังดำเนินอยู่นี้ (เพราะ) เราต่างมีหน้าที่รับผิดชอบต่อประชาชนชาวพม่า ในการทำให้รัฐบาลทหารออกมารับผิดต่อการกระทำของตน”
ในการเยือนไทยอย่างเป็นทางการครั้งนี้ รมต.ต่างประเทศสหรัฐฯ ยังได้พบกับรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ดอน ปรมัตถ์วินัย ด้วย และยังได้ร่วมกันลงนามในแถลงการณ์ว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและพันธมิตรทางยุทธศาสตร์ และบันทึกความเข้าใจ (MoU) เพื่อส่งเสริมความยืดหยุ่นด้านห่วงโซ่อุปทานระหว่างไทยและสหรัฐฯ ด้วย
การลงนามในเอกสารดังกล่าวนี้เกิดขึ้นก่อนที่สหรัฐฯ และไทยจะฉลองการครบรอบ 190 ปีของความสัมพันธ์ทางการทูตในปีหน้า โดยประเทศพันธมิตรเก่าแก่ทั้งสองนี้ประกาศยึดมั่นที่จะเดินหน้าไปสู่เป้าหมายระยะยาวในการขยายและการส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่จะช่วยป้องกันความขัดแย้งต่าง ๆ พร้อมกับปกปักษ์รักษาบรรยากาศด้านความมั่นคงที่อยู่นภาวะสันติ และส่งเสริมการแสดงออกอย่างมีเสรีและสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองรวมทั้ง ความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจที่มีสมดุล ยั่งยืน และเปิดกว้างสำหรับทุกฝ่าย ตามข้อมูลของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ
จากนั้น รมต.บลิงเคน ได้เข้าพบนายกรัฐมนตรี ประยุทธ์ จันทร์โอชา และร่วมหารือประเด็นการขยายความร่วมมือระหว่างทั้งสองประเทศในด้านการจัดการกับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงและด้านสาธารณสุข รวมทั้ง การที่สหรัฐฯ จะรับไม้ต่อการเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปคในปีหน้า
กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เปิดเผยในวันอาทิตย์ด้วยว่า รมต.บลิงเคน จะเดินทางไปยังญี่ปุ่นในวันจันทร์ เพื่อแสดงความเสียใจต่อประชาชนชาวญี่ปุ่น กับกรณีการลอบสังหารอดีตนายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ และจะเข้าพบเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลญี่ปุ่นด้วย
ทั้งนี้ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ เดินทางถึงไทยหลังจาก หวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศจีนเพิ่งเสร็จสิ้นการเยือนอาเซียนอย่างเป็นทางการเมื่อไม่กี่วันก่อนหน้า โดยทั้งคู่ได้พบกันเมื่อวันเสาร์ ในระหว่างการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกลุ่มประเทศ G-20 ที่เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย และได้มีการหารือร่วมกันเป็นเวลาหลายชั่วโมง
รายงานข่าวระบุว่า รมต.ต่างประเทศสหรัฐฯ ได้แจ้งกับรัฐมนตรีของจีนว่า การที่กรุงปักกิ่งยังให้การสนับสนุนรัสเซียในการทำสงครามในยูเครน คือ ปัจจัยที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และจีนมีความยุ่งยากมากขึ้นจากเดิมที่มีปัญหาความขัดแย้งบาดหมางในหลายเรื่องอยู่แล้ว
ขณะเดียวกัน รมต.หวัง ได้กล่าวโทษสหรัฐฯ ว่าเป็นผู้ที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองย่ำแย่ลง และว่า นโยบายของอเมริกาต่อจีนไม่มีการพัฒนาไปข้างหน้าดังหวังเพราะการที่มีผู้ออกมาเรียกจีนว่า เป็นภัยคุกคาม
แถลงการณ์ของทางการจีนระบุว่า “ผู้คนจำนวนมากเชื่อว่า สหรัฐฯ นั้นกำลังตกอยู่ในภาวะ ‘วิตกกังวลกลัวจีน’” และว่า “หาก (ความเชื่อว่า จีนกำลัง) ขยายวงภัยคุกคามนั้นแพร่กระจายออกไปเรื่อย ๆ นโยบายของสหรัฐฯ ต่อจีนก็จะพบกับทางตัน และไม่มีทางออกได้อีกเลย”
ในส่วนของสหรัฐฯ นั้น รมต.บลิงเคน ได้แสดง “ความกังวลอย่างมากของสหรัฐฯ ต่อวาทกรรมและกิจกรรมที่ทำการยั่วยุปลุกปั่นเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ของปักกิ่ง ต่อไต้หวัน” รวมทั้ง เรื่องของความพยายามของปักกิ่งในการยึดพื้นที่ทางยุทธศาสตร์ในทะเลจีนใต้ การปราบปรามเสรีภาพของประชาชนในฮ่องกง และนโยบายที่เกี่ยวกับชนกลุ่มน้อยและผู้นับถือศาสนาอื่น ๆ ในจีน ซึ่งรวมความถึงชาวมุสลิมอุยกูร์ในมณฑลซินเจียง
นอกจากประเด็นที่ว่ามาทั้งหมดนี้แล้ว รมต.บลิงเคนและรมต.หวัง ยังได้หารือหนทางที่ทั้งสองประเทศจะทำงานร่วมกันได้ อาทิ กรณีวิกฤตด้านสภาพภูมิอากาศ ประเด็นความมั่นคงด้านอาหาร สถานการณ์ด้านสาธารณสุขโลก และการต่อสู้กับขบวนการค้ายาเสพติด
รายงานข่าวระบุว่า รมต.หวัง ได้กล่าวว่า จีนและสหรัฐฯ ต้องทำงานร่วมกันมากขึ้น เพื่อให้ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองเดินหน้าต่อไปในทิศทางที่ถูกต้อง
-
ที่มา: วีโอเอ