รมว.ต่างประเทศสหรัฐฯ ย้ำกระชับความสัมพันธ์กับพันธมิตรรับมือภัยคุกคาม

Belgium NATO US

เมื่อวันพุธ แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวในที่ประชุมรัฐมนตรีขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือ นาโต (NATO) ว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ยืนหยัดฟื้นฟูความสัมพันธ์กัประเทศพันธมิตรเพื่อรับมือกับความท้าทายระดับโลก เช่น การระบาดของโรคโควิด-19 และ “ท่าทีที่แข็งกร้าวขึ้นของจีน”

บลิงเคนบอกกับที่ประชุม ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม ว่า ผลสำรวจขององค์กร Chicago Alliance on Global Affairs ระบุว่า ชาวอเมริกัน 90 เปอร์เซ็นต์เชื่อว่า การรักษาความสัมพันธ์กับประเทศพันธมิตรเป็นวิธีที่สุดที่สหรัฐฯ จะบรรลุเป้าหมายของนโยบายต่างประเทศได้

การเดินทางเยือนยุโรปครั้งแรกในฐานะรัฐมนตรีของบลิงเคนนี้ มีขึ้นหลังสหรัฐฯ ในยุคของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ดำเนินนโยบายต่างประเทศโดยเน้นผลประโยชน์ของสหรัฐฯ เป็นหลัก

รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุว่า ภัยคุกคามโลกหลัก ๆ มีทั้งภัยคุกคามทางการทหาร เทคโนโลยี วิกฤติโรคโควิด-19 การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ขณะที่ภัยคุกคามใหม่อย่างการใช้เทคโนโลยีเข้าถึงตลาดและ “ทรัพยากรสำคัญ” อื่นๆ ของจีนและรัสเซีย ส่งผลกระทบต่อสหรัฐฯ และประเทศพันธมิตรในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

Belgium NATO US

เขากล่าวด้วยว่า สหรัฐฯ และประเทศพันธมิตรมีบทบาทในการปรับตัวต่อภัยคุกคามในปัจจุบัน และฟื้นฟูความสัมพันธ์เพื่อรับมือกับภัยคุกคามเหล่านี้ “ในขอบเขตทางเศรษฐกิจ เทคโนโลยี และอุดมการณ์”

เขายังระบุด้วยว่า แม้ท่าทีแข็งกร้าวของจีนจะเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงโลก แต่พฤติกรรมของจีนก็ไม่ควรกระทบความร่วมมือระหว่างสหรัฐฯ และประเทศพันธมิตรกับจีน ในประเด็นความท้าทายร่วมกัน เช่น การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและความมั่นคงด้านสุขภาพ

ทำเนียบขาวระบุว่า ประธานาธิบดีโจ ไบเดน มีแผนหารือเพื่อยกระดับความสัมพันธ์สหรัฐฯ กับสหภาพยุโรป หรือ อียู ระหว่างการประชุมออนไลน์กับผู้นำอียูในวันพฤหัสบดี

จุดยืนของผู้นำสหรัฐฯ ปัจจุบัน แตกต่างจากจุดยืนของอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ ที่มักโจมตีประเทศสมาชิกนาโตว่า ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายในการใช้งบประมาณ 2 เปอร์เซ็นต์จากมูลค่าจีดีพีเพื่อการป้องกันประเทศ โดยบลิงเคนระบุว่า แม้เป้าหมายดังกล่าวจะสำคัญ แต่การมองถึงภาพรวมของการ “แบกภาระร่วมกัน” นี้ก็สำคัญเช่นกัน

ทั้งนี้ การประชุมรัฐมนตรีนาโตเป็นเวลาสองวันนี้ เน้นประเด็นไปที่ภารกิจของนาโตในอัฟกานิสถาน เนื่องจากใกล้ถึงเส้นตายในวันที่ 1 พฤษภาคม ที่สหรัฐฯ มีกำหนดถอนกองทัพทั้งหมดออกจากอัฟกานิสถาน ภายใต้ข้อตกลงเพื่อสันติภาพระหว่างกลุ่มตาลิบานและรัฐบาลสหรัฐฯ ชุดที่แล้ว

U.S. Secretary of State Antony Blinken, right, and NATO Secretary General Jens Stoltenberg wear protective masks as they prepare to stand with NATO foreign ministers for a socially distanced group photo during a meeting of NATO foreign ministers at…


รมว. บลิงเคนระบุว่า ยังมีการประเมินสถานการณ์อยู่ โดยการตัดสินใจของสหรัฐฯ จะขึ้นอยู่กับการหารือกับประเทศสมาชิกที่มีส่วนร่วมกับภารกิจทางทหารนี้

เจนส์ สโตลเตนเบิร์ก เลขาธิการนาโต ระบุว่า เขายินดีกับความพยายามเพื่อบรรลุสันติภาพ ซึ่งเป็น “หนทางเดียวที่จะนำไปสู่ทางออกทางการเมืองของอัฟกานิสถานได้ในระยะยาว” อย่างไรก็ตาม เขาระบุว่าทุกฝ่ายจะต้องหารือด้วยความตั้งใจดี ลดการใช้ความรุนแรง และทางตาลิบานต้องหยุดสนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายข้ามชาติ เช่น กลุ่มอัลไคดา