ข้อถกเถียงเรื่อง 'ทัวร์คุณแม่' กับทางลัดสู่สถานะพลเมืองสหรัฐฯ แบบอัตโนมัติ

Children born in the U.S., like Agnes' son, are automatically American citizens, according to the Constitution. However, in the attempt to gain citizenship for their children through birth, many commit immigration fraud, exploit the health care system and

Your browser doesn’t support HTML5

Birth Tourism

ในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดี นายโดนัลด์ ทรัมป์ ได้เน้นย้ำเรื่องการปฏิรูปกฎหมายเกี่ยวกับการรับคนต่างด้าวเข้ามาในสหรัฐฯ และควบคุมจำนวนผู้ลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย รวมทั้ง “ทัวร์คุณแม่” หรือการที่ผู้หญิงที่มีครรภ์นิยมเดินทางไปคลอดบุตรในสหรัฐฯ เพราะลูกที่เกิดมาจะได้สัญชาติอเมริกันทันที

อย่างไรก็ตาม การเดินทางเพื่อไปคลอดบุตรในอเมริกามีต้นทุนไม่น้อย และอาจไม่สวยหรูอย่างที่คิดเสมอไป

ศูนย์ศึกษาด้านคนเข้าเมืองของสหรัฐฯ ประเมินว่าแต่ละปีมีสตรีต่างชาติเดินทางมาคลอดบุตรในอเมริการาว 36,000 คน เพื่อใช้ทางลัดให้บุตรของตนได้สัญชาติอเมริกันโดยอัตโนมัติ ตามบทแก้ไขรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ บทที่ 14 ที่รับประกันการให้สัญชาติแก่ผู้ที่ถือกำเนิดในสหรัฐฯ ทุกคน

สตรีหลายคนที่ตัดสินใจมาคลอดบุตรในอเมริกา ให้เหตุผลว่าการที่บุตรมีสัญชาติอเมริกันนั้นมีข้อดีหลายอย่าง

ประการแรก คือเด็กสามารถเดินทางกลับมายังอเมริกาเมื่อไรก็ได้เมื่อเติบโตขึ้น ไม่ว่าจะกลับมาศึกษาหรือทำงาน และยังสามารถได้รับสวัสดิการต่างๆ เหมือนที่เด็กอเมริกันได้รับ คือการเรียนฟรีในชั้นประถมและมัธยมศึกษา การรับเงินช่วยเหลือจากรัฐ ตลอดจนการรับทุนการศึกษา

ประการที่สอง คือ สามารถทำงานที่กันไว้สำหรับพลเมืองสหรัฐฯ ได้ เช่น งานของรัฐบาล

ประการที่สาม คือการมีหนังสือเดินทางของสหรัฐฯ ทำให้เดินทางไปประเทศส่วนใหญ่ได้ง่ายโดยไม่ต้องขอวีซ่า หรือขอวีซ่าที่จุดผ่านแดนได้เลย

และประการสุดท้ายซึ่งเชื่อว่าสำคัญที่สุด คือเมื่ออายุครบ 21 ปี ผู้ที่เกิดในอเมริกาจะสามารถขอใบรับรองการอยู่อาศัยถาวรในสหรัฐฯ หรือกรีนการ์ด ให้กับพ่อแม่ของตนได้ ถือเป็นใบเบิกทางสำคัญสู่ความฝันแบบอเมริกัน หรือ “American Dream” สำหรับหลายๆ คน

แต่หนทางไขว่คว้าเพื่อให้ได้สัญชาติอเมริกันสำหรับลูกนั้น มิได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเสมอไป สตรีหลายคนถูกจับในข้อหาลักลอบเข้าเมือง ละเมิดกฎหมายด้านประกันสุขภาพ รวมถึงการถูกหลอกลวงโดยบริษัทที่จัดบริการ “ทัวร์คุณแม่” หรือการเสนอบริการให้แก่ผู้หญิงชาวต่างประเทศที่ตั้งครรภ์ และต้องการไปคลอดลูกในสหรัฐฯ

ส่วนใหญ่บริษัทเหล่านี้จะให้บริการอย่างครอบคลุม ซึ่งรวมถึงการอำนวยความสะดวกในการขอวีซ่าเข้าสหรัฐฯ การเดินทาง ที่พัก อาหาร ล่าม ตลอดจนโรงพยาบาลที่จะใช้เป็นที่คลอด โดยจะแนะนำให้ลูกค้าเดินทางเข้าประเทศมาก่อนราว 2-3 เดือน ก่อนถึงวันกำหนดคลอด และทำทีปกปิดเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองว่ามิได้ตั้งครรภ์

ส่วนใหญ่ของผู้ที่ใช้บริการดังกล่าวเป็นผู้หญิงจากประเทศจีน ที่เต็มใจจ่ายค่าบริการระหว่าง 10,000 – 50,000 ดอลลาร์ นอกจากนี้ยังมีจำนวนมากที่มาจากไต้หวัน เกาหลีใต้ ไนจีเรีย ตุรกี รัสเซีย บราซิล และเม็กซิโก

เมื่อปีที่แล้ว เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลสหรัฐฯ จู่โจมสถานที่ที่เชื่อว่าเป็นแหล่งบริการสำหรับ “ทัวร์คุณแม่” ราว 20 แห่งในตอนใต้ของรัฐแคลิฟอร์เนีย และจับผู้ต้องหาหลายสิบคน

กรณีทัวร์คุณแม่นี้สร้างความไม่พอใจให้กับประชาชนอเมริกันหลายกลุ่ม คุณ Dan Stein ประธานสหพันธ์เพื่อการปฏิรูปกฎหมายคนเข้าเมืองหรือ FAIR ซึ่งต่อต้านการให้สถานะพลเมืองแก่ผู้ที่เกิดในสหรัฐฯ ทุกคนโดยอัตโนมัติ กล่าวว่าเป็นเรื่องไม่เหมาะสมอย่างยิ่งที่มีการให้สถานะพลเมืองโดยไม่มีเงื่อนไขว่าต้องอาศัยอยู่ในประเทศนี้นานแค่ไหนเป็นอย่างน้อย

และว่าบทแก้ไขรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ บทที่ 14 มิได้จัดทำขึ้นเพื่อจะถูกใช้เป็นเครื่องมือจัดหาสิทธิและสถานะพลเมืองให้กับคนที่ไม่มีความผูกพันเชื่อมโยงกับชุมชนหรือประเทศนี้

FAIR และอีกหลายองค์กรกำลังเรียกร้องให้มีการปรับแก้กฎหมายที่ว่านี้ แต่การจะทำเช่นนั้นได้ หมายความว่าจะต้องมีการร่างบทแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ และการให้ความเห็นชอบ ซึ่งเป็นกระบวนการที่ยาวนานสลับซับซ้อน และไม่มีความแน่นอนว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่

ศาสตราจารย์ Hirochi Motomura แห่งคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรัฐแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตลอสแองเจลลีส เชื่อว่าหากมีการเปลี่ยนแปลงบทแก้ไขรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ บทที่ 14 ดังกล่าว จะถือเป็นเรื่องผิดพลาด เพราะมีประชาชนในอีกเกือบ 40 ประเทศ ที่มีโครงการยกเว้นวีซ่ากับสหรัฐฯ ซึ่งพวกเขามีสิทธิเดินทางมาคลอดบุตรในสหรัฐฯ ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายภายใต้ข้อตกลงที่ทำไว้

ผู้เชี่ยวชาญผู้นี้เชื่อด้วยว่า ในที่สุดแล้วกฎหมายให้สัญชาติอเมริกันโดยอัตโนมัติแก่ผู้ที่เกิดในประเทศนี้ ยังมีข้อดีและเป็นประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่ มากกว่าจะถูกยกเลิกไปเพราะการอาศัยช่องโหว่ของคนกลุ่มน้อย

(ผู้สื่อข่าว Jesusemen Oni รายงาน / ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียง)