‘เท้าเทียม’ เลียนแบบกายภาพมนุษย์ ตอบโจทย์ในทุกสถานการณ์

นวัตกรรม "SoftFoot Pro" -- เท้าเทียมเลียนแบบกายภาพมนุษย์

นักวิทยาศาสตร์ในประเทศอิตาลี ได้สร้างต้นแบบ “เท้าเทียม” แบบใหม่ที่จำลองโครงสร้างทางกายภาพของมนุษย์ได้ใกล้เคียงความเป็นจริงขึ้นมา และความก้าวหน้านี้จะสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ต่อผู้ที่สูญเสียอวัยวะแขนขา รวมไปถึงอาจเป็นส่วนหนึ่งของการใช้งานในหุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย

สำนักงานข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Italian Institute of Technology (IIT) ที่ตั้งในเมืองเจนัว (Genoa) ประเทศอิตาลี ได้คิดค้น “ซอฟท์ฟุต โปร” (SoftFoot Pro) ซึ่งเป็นเท้าเทียมไบโอนิคที่ เลียนแบบความยืดหยุ่นของร่างกายมนุษย์ สามารถกันน้ำ กันลื่น และถูกออกแบบมาเพื่อการเดินบนพื้นผิวที่ขรุขระได้ด้วย โดยเท้าเทียมนี้ยังช่วยสร้างสมดุลที่ดีให้กับผู้ใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์หรือหุ่นยนต์ก็ตาม

มานูเอล คาตาลาโน นักวิจัยจากห้องปฏิบัติการ Soft Robotics for Human Cooperation and Rehabilitation Lab

มานูเอล คาตาลาโน นักวิจัยจากห้องปฏิบัติการ Soft Robotics for Human Cooperation and Rehabilitation Lab มหาวิทยาลัย IIT อธิบายว่า แนวคิดของ SoftFoot Pro มาจากการศึกษาเท้าของมนุษย์ และกล่าวว่า “เราพยายามสร้างสิ่งที่ผู้ใช้งานสามารถใช้ได้ทุกวันในชีวิต” โดยเท้าเทียมต้นแบบนี้ จะตอบโจทย์ในทุกสภาวะและผู้ใช้งานไม่ต้องเปลี่ยนเพื่อกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่ง

คาตาลาโน กล่าวเสริมว่า เท้าเทียมไบโอนิค “มีระบบกระดูก เอ็น และกล้ามเนื้อที่ช่วยให้เราสามารถรับมือกับสภาพแวดล้อมทุกประเภท สิ่งที่เราพยายามทำคือการเลียนแบบ และถ่ายทอดหลักการนี้ไปสู่เทคโนโลยีที่สามารถใช้งานได้ทั้งกับระบบขาเทียมในมนุษย์และหุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์”

ผู้ทดลองใช้งาน "SoftFoot Pro"

นักวิจัยจาก IIT ชี้แจงว่า ในปัจจุบัน ขาเทียมที่ใช้ในมนุษย์และหุ่นยนต์มีลักษณะเท้าที่แบนและมีความสอดคล้องต่อการใช้งานต่ำ และแม้เท้าเหล่านี้ถูกออกแบบมาให้มีความมั่นคง แต่กลับไม่สามารถปรับตัวหรือยืดหยุ่นตอบสนองความเปลี่ยนแปลง ทั้งกับพื้นผิวหรือการเคลื่อนไหวของร่างกาย อย่างเช่น การนั่งคุกเข่า หรือการงอเท้าได้

SoftFoot Pro มีน้ำหนักราว 450 กรัมและสามารถรับน้ำหนักได้มากถึง 100 กิโลกรัม โดยภายในประกอบด้วยกลไกที่สร้างจากวัสดุไทเทเนียมและเชื่อมต่อกันด้วยโซ่พลาสติกที่จำลองเลียนแบบพังผืดฝ่าเท้าของมนุษย์

ผู้ทดลองใช้ "SoftFoot Pro" แสดงให้ดูถึงความยืดหยุ่นของอวัยวะเทียมนี้

คาตาลาโน กล่าวว่า ระบบดังกล่าวจะช่วยกระจายแรงกดทับจากการเดินได้อย่างสม่ำเสมอ ทำให้การเคลื่อนไหวมีประสิทธิภาพมากขึ้น และมีความเป็นธรรมชาติ

ภายในของเท้าเทียมนั้น ไม่มีมอเตอร์หรือการเชื่อมต่อกับวงจรไฟฟ้า จึงมีคุณสมบัติกันน้ำ สามารถใช้งานกลางแจ้งตามพื้นผิวที่หลากหลาย ซึ่งรวมถึงพื้นผิวที่มีความเรียบลื่นอีกด้วย

ปัจจุบัน เท้าเทียม SoftFoot Pro ได้รับสิทธิบัตรระหว่างประเทศจำนวนสองฉบับแล้ว และอีกหนึ่งฉบับอยู่ระหว่างการพิจารณา โดยที่ผ่านมา ชิ้นงานต้นแบบถูกนำไปทดสอบกับผู้พิการในเยอรมนีและออสเตรียแล้ว นอกจากนี้ ยังมีการนำเอาเท้าเทียมนี้ไปทดลองกับหุ่นยนต์ในสวิตเซอร์แลนด์และญี่ปุ่นแล้วเช่นกัน

  • ที่มา: รอยเตอร์