นักวิเคราะห์จับตามองนโยบายสร้างสัมพันธ์กับอาเซียนของประธานาธิบดีไบเดน

FILE - President-elect Joe Biden speaks as Vice President-elect Kamala Harris, left, listens during an event to introduce their future administration's nominees and appointees, at The Queen theater in Wilmington, Delaware, Dec. 1, 2020.

Your browser doesn’t support HTML5

Biden Asean Policy


การเปลี่ยนผู้นำและการเปลี่ยนรัฐบาลชุดใหม่ของสหรัฐฯ ทำให้ผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียกำลังจับตามองว่าหากประธานาธิบดีโจ ไบเดนให้ความสนใจและสร้างความสัมพันธ์กับสมาคมอาเซียนมากขึ้น นโยบายดังกล่าวก็จะสร้างความสบายใจให้กับผู้นำของอาเซียนและช่วยต้านอิทธิพลของจีนได้

โดยนักวิเคราะห์ด้านเอเชียกล่าวว่าความพร้อมและความตั้งใจของประธานาธิบดีโจ ไบเดนที่จะเพิ่มบทบาทของสหรัฐฯ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะช่วยสร้างความมั่นใจในกลุ่มผู้นำของอาเซียนว่าวอชิงตันกลับมามีบทบาทผู้นำที่สามารถคาดเดาได้อีกครั้งหนึ่ง และจะช่วยเป็นพลังเพื่อต้านทานอิทธิพลจากจีนรวมทั้งยังจะเป็นโอกาสในการเพิ่มความสัมพันธ์ด้านการค้าระหว่างกันและกันด้วย

ในช่วงสี่ปีที่ผ่านมา ถึงแม้ว่าวอชิงตันจะมีความกังวลว่าปักกิ่งพยายามเข้าครอบครองพื้นที่ในทะเลจีนใต้ซึ่งเป็นกรณีพิพาทอยู่กับสี่ประเทศสมาชิกของอาเซียนและมีการส่งเรือรบของสหรัฐเข้ามาลาดตระเวนในทะเลจีนใต้เป็นสัญญาณเตือน รวมถึงมีการให้ความสนับสนุนทางทหารแก่บางประเทศของอาเซียนก็ตาม แต่ท่าทีของประธานาธิบดีทรัมป์ที่ดูจะห่างเหินจากอาเซียนกลับช่วยเปิดช่องให้จีนเข้ามาสร้างอิทธิพลกดดันในภูมิภาคดังกล่าวนี้ได้ โดยอาจารย์ Carl Thayer ศาสตราจารย์กิตติคุณจากมหาวิทยาลัย New South Wales ชี้ว่าจีนได้ใช้ soft power กับประเทศสมาชิกของอาเซียนจากประเด็นปัญหาต่างๆ อย่างเช่นการช่วยผ่อนคลายปัญหาเศรษฐกิจจากกรณีโควิด-19 และเข้าร่วมกิจกรรมการพบปะของอาเซียนอย่างแข็งขันด้วย ในทางตรงกันข้ามสหรัฐฯ กลับมีท่าทีที่เหินห่างจากอาเซียน โดยประธานาธิบดีทรัมป์เข้าร่วมการประชุมสุดยอดของสมาคมอาเซียนเพียงครั้งเดียวเมื่อปี 2560 และได้ส่งตัวแทนเข้าร่วมการประชุมแทนหลังจากนั้น นอกจากนั้นแล้วท่าทีของสหรัฐฯ ที่บอกปัดความสัมพันธ์และความร่วมมือแบบพหุภาคีก็ทำให้ผู้นำของกลุ่มประเทศอาเซียนกังวลใจ

แต่รองศาสตราจารย์ Eduardo Araral จากมหาวิทยาลัย National University of Singapore เชื่อว่ารัฐบาลสหรัฐฯ ชุดใหม่จะมีท่าทีที่ตรงกันข้าม โดยคาดว่าโจ ไบเดนจะหันมาพึ่งพากลไกความร่วมมือระหว่างประเทศแบบพหุภาคีอีกครั้งเพราะว่าเรื่องนี้เป็นแนวทางปฏิบัติดั้งเดิมของพรรคเดโมแครต โดยอาจารย์ผู้นี้ชี้ว่าแนวทางการทำงานที่ว่านี้จะช่วยสร้างกรอบความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับอาเซียนขึ้นมา และจะช่วยลดความขัดแย้งกับความไม่แน่นอนลงซึ่งอย่างน้อยก็จะเป็นการช่วยซื้อเวลาให้กับสมาคมอาเซียนในการสร้างดุลความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ และจีนได้

ส่วนคุณ Aaron Rabena นักวิเคราะห์จากหน่วยงานชื่อ Asia-Pacific Pathways to Progress Foundation ในกรุงมะนิลาชี้ว่าสหรัฐฯ จะต้องอาศัยอาเซียนเพื่อต้านอิทธิพลของจีนเช่นกัน เพราะว่าขณะนี้หลายประเทศในสมาคมอาเซียนต้องพึ่งพาจีนอยู่ทั้งในเรื่องการค้าและการลงทุน และถึงแม้โดยท่าทีที่แสดงออกมาแล้วประเทศสมาชิกของอาเซียนส่วนใหญ่จะไม่ต้องการเข้าข้างจีนหรือสหรัฐอย่างชัดแจ้งก็ตาม แต่หลายประเทศเหล่านี้ก็เป็นพันธมิตรเก่าแก่ของสหรัฐฯ มานานหลายสิบปีเช่นกัน นักวิเคราะห์ผู้นี้เชื่อว่าหากสหรัฐฯ มีข้อริเริ่มด้านการค้าแล้วสมาคมอาเซียนก็พร้อมที่จะพิจารณาข้อเสนอใหม่จากสหรัฐเช่นกัน

และท้ายที่สุดคุณ Manu Bhaskaran ซีอีโอของบริษัทวิจัย Centennial Asia Advisors ในสิงคโปร์เชื่อว่าโจ ไบเดนจะยึดมั่นในกระบวนการและกลไกของความร่วมมือกับพันธมิตรแบบพหุภาคีผ่านทางสถาบันระหว่างประเทศ และจะตัดสินใจด้านนโยบายด้วยการพิจารณาความเห็นและคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญอย่างรอบคอบ ทั้งยังกล่าวด้วยว่าคงไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจหากโจ ไบเดนในฐานะผู้นำสหรัฐฯ คนใหม่จะแลกเปลี่ยนและรับฟังทัศนะจากผู้นำของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อนำมาช่วยกำหนดนโยบายของสหรัฐฯ เกี่ยวกับภูมิภาคอินโดแปซิฟิกโดยส่วนรวม