เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว คณะกรรมการสอบสวนเหตุบุกอาคารรัฐสภาสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2021 เผยแพร่รายงานการสอบสวนฉบับสมบูรณ์ ยืนยันว่าอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ มีส่วนร่วมต่อความพยายามพลิกผลการเลือกตั้งปธน. เมื่อปี 2020 พร้อมเสนอกระทรวงยุติธรรมเดินหน้าเอาผิดอดีตผู้นำสหรัฐฯ รายนี้ ซึ่งในระหว่างที่กระบวนการดังกล่าวกำลังเดินหน้าต่อไป ทำเนียบขาวต้องดำเนินการเรื่องนี้อย่างระมัดระวัง เพื่อไม่ให้เป็นการมุ่งเป้าไปยังคู่แข่งทางการเมือง ในศึกเลือกตั้งปี 2024 ที่จะมาถึง
เหลือเพียงอีกสองสัปดาห์ก่อนวันครบรอบ 2 ปี เหตุจลาจลบุกอาคารรัฐสภาสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 6 มกราคม ปี ค.ศ. 2021 โดยกลุ่มผู้สนับสนุนอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ถือเป็นเหตุการณ์ที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองอเมริกัน
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ทางคณะกรรมการสอบสวนเหตุบุกอาคารรัฐสภาสหรัฐฯ ได้เสนอให้กระทรวงยุติธรรมเดินหน้ายื่นฟ้องอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ในคดีอาญาหลายคดี ที่เกี่ยวข้องกับบทบาทของเขาในความพยายามพลิกผลการเลือกตั้งประธานาธิบดี เมื่อปี 2020 ที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้รับชัยชนะ
SEE ALSO: คลอดแล้ว! รายงานสืบสวนเหตุบุกรัฐสภาสหรัฐฯ ชี้ ‘ทรัมป์’ เป็นตัวจุดชนวนในประเด็นนี้ โฆษกทำเนียบขาว คารีน ฌอง-ปิแอร์ ระบุว่า “เราจะมีความระมัดระวังอย่างยิ่งในการที่จะไม่ทำให้กระบวนการทั้งหมดนี้เป็นเรื่องทางการเมือง” และว่า “คณะทำงาน (ปธน.ไบเดน) และกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ดำเนินการสอบสวนคดีอาญาอย่างเป็นอิสระ ปราศจากการแทรกแซงทางการเมืองและการแทรกแซงในทุกรูปแบบ”
แต่อีกด้านหนึ่ง เมอร์ริค การ์แลนด์ รัฐมนตรียุติธรรมสหรัฐฯ ต้องตัดสินใจว่าจะทำตามคำแนะนำของคณะกรรมการสอบสวนหรือไม่
ปีเตอร์ โลจ (Peter Loge) ผู้อำนวยการโครงการด้านจริยธรรมการสื่อสารการเมือง จาก George Washington University ให้ทัศนะกับวีโอเอว่า “สิ่งที่ดีที่สุดที่ประธานาธิบดีไบเดนสามารถทำได้ คือสิ่งที่เขากำลังทำอยู่ นั่นคือการบอกว่า ‘คณะกรรมการสอบสวน ฯ ได้ทำคดีที่น่าสนใจอย่างยิ่ง ในมุมมองของผม มันคือสิ่งที่ชัดแจ้งอยู่แล้ว ผมเห็นด้วยกับข้อสรุปของพวกเขา เราได้เดินหน้าที่จะปกป้องและสนับสนุนประชาธิปไตย และตอนนี้ขึ้นอยู่กับกระทรวงยุติธรรมแล้ว’ และเอาตัวออกมาให้พ้นทาง”
ทั้งนี้ รัฐมนตรียุติธรรมสหรัฐฯ เป็นผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อโดยประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดยมีวุฒิสภาให้การรับรอง ขณะที่กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ได้รับอิสระมากขึ้นหลังจากคดีวอเตอร์เกท ซึ่งเป็นเหตุอื้อฉาวทางการเมืองในช่วงต้นคริสต์ทศวรรษที่ 1970 ในสหรัฐฯ ที่ส่งผลให้อดีตประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน ต้องลาออกจากตำแหน่ง ซึ่งในตอนนั้นอดีตปธน.นิกสัน พยายามใช้เจ้ากระทรวงยุติธรรมเพื่อวาระทางการเมืองของตน
นอกจากนี้ ยังมีกฎหมาย Ethics in Government Act ในปี 1978 ที่อนุญาตให้มีการสอบสวนการประพฤติมิชอบดำเนินการอย่างเป็นอิสระจากการควบคุมของประธานาธิบดีได้ ซึ่งรมว.ยุติธรรมการ์แลนด์ ใช้กฎหมายดังกล่าวในการแต่งตั้งอัยการพิเศษ แจ็ค สมิธ ให้เป็นผู้นำการสอบสวนคดีอาญาของอดีตปธน.ทรัมป์
รมว.ยุติธรรมการ์แลนด์ กล่าวว่า “การแต่งตั้ง (อัยการพิเศษ) เน้นย้ำความมุ่งมั่นต่อความเป็นอิสระและความรับผิดชอบในประเด็นที่ละเอียดอ่อนเช่นนี้”
อย่างไรก็ตาม อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เรียกกระบวนการดังกล่าวว่าเป็นการล่าแม่มด
อดีตปธน.ทรัมป์ บอกว่า “ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ผมได้มอบเอกสาร รายงานภาษี และทุกสิ่งทุกอย่างหลายล้านหน้ากระดาษ และพวกเขาไม่พบอะไรเลย นั่นหมายความว่าผมได้รับการยืนยันแล้วว่าเป็นบุคคลที่ซื่อสัตย์และบริสุทธิ์ไร้มลทินที่สุดในประเทศนี้”
ในประวัติศาสตร์การเมืองอเมริกัน ไม่เคยมีประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใดที่ถูกดำเนินคดีอาญา และหลายฝ่ายกังวลว่าสิ่งนี้จะยิ่งสร้างการแบ่งแยกทางการเมือง แต่ผู้สังเกตการณ์ทางการเมืองบางคนมองว่าเป็นสิ่งที่ควรจะเกิดขึ้น
วิลเลียม ฮาเวลล์ (William Howell) อาจารย์จาก University of Chicago ให้ทัศนะกับวีโอเอว่า “อย่างน้อยก็มีความเป็นไปได้ว่ากระทรวงยุติธรรมมีความเป็นอิสระอย่างแท้จริง และจะมีดำเนินคดีอย่างระมัดระวังกับอดีตประธานาธิบดีผู้ไม่เคารพกฎหมายในหลายประเด็นที่มีความสำคัญ สิ่งนี้จะมีผลต่อการรักษาหลักนิติธรรมและการปกป้องประชาธิปไตย นั่นคือ เดิมพันของกระทรวงยุติธรรม”
ทั้งนี้ ทางคณะกรรมการสอบสวนฯ เสนอให้กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ เดินหน้าทำการฟ้องคดีอาญาฐานสนับสนุนหรือช่วยเหลือในการก่อจลาจลจากการบุกอาคารรัฐสภาสหรัฐฯ ขัดขวางการดำเนินการของเจ้าพนักงาน สมรู้ร่วมคิดเพื่อหลอกลวงชาวอเมริกัน และสมรู้ร่วมคิดเพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท็จ
- ที่มา: วีโอเอ