2022: ปีแห่งการคุมเข้มสำหรับวอลสตรีทและธุรกิจฟินเทคจากนโยบายของไบเดน

USA-BIDEN/

Your browser doesn’t support HTML5

Biden Financial Policy

หลังจากเริ่มทำงานมาได้ราวหนึ่งปีและการแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญต่างๆ ของหน่วยงานกำกับควบคุมด้านการเงินเป็นไปอย่างค่อนข้างล่าช้า นักวิเคราะห์เชื่อว่าปี 2022 ที่กำลังจะมาถึงนี้จะเป็นโอกาสของการเปลี่ยนถ้อยคำโวหารด้านนโยบายเป็นการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมอย่างแท้จริงสำหรับการควบคุมดูแลธุรกิจผู้ให้บริการด้านการเงินทั้งที่เป็นผู้เล่นหน้าเก่าและรายใหม่

โดยเนื้อหาสำคัญสำหรับนโยบายด้านการเงินของประธานาธิบดีไบเดนซึ่งจะเริ่มนำมาปฏิบัติในปีหน้าอาจเรียกได้ว่าเป็นการพลิกโฉมหน้าจากแนวทางซึ่งเป็นมิตรกับธุรกิจของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และเรื่องนี้ก็จะมีผลโดยตรงต่อการกำกับควบคุมที่เข้มงวดขึ้นสำหรับธุรกิจวอสตรีทรวมทั้งสำหรับผู้เล่นรายใหม่ที่จะเข้าสู่ธุรกิจบริการด้านการเงินด้วย

โดยวาระที่สำคัญของรัฐบาลชุดประธานาธิบดีไบเดนนี้รวมถึงการกำหนดกรอบโครงสร้างเพื่อกำกับควบคุมสินทรัพย์ดิจิทัลและผู้ให้บริการด้านฟินเทค ส่งเสริมการแข่งขันอย่างเสรี รวมทั้งช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมผ่านทางนโยบายและการปฏิบัติของธุรกิจการเงินต่างๆ ด้วย

คุณ Isaac Boltansky ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยนโยบายของบริษัทค้าหลักทรัพย์ BTIG เชื่อว่าปี 2022 นี้จะเป็นปีของการเปลี่ยนถ้อยคำด้านนโยบายให้เป็นการปฏิบัติอย่างแท้จริง และคุณ Aaron Klein จากสถาบัน Brookings ก็เชื่อว่าเรื่องนี้พร้อมที่จะเกิดขึ้นได้เพราะผู้บริหารของหน่วยงานกำกับควบคุมด้านการเงินที่สำคัญต่างๆ ทั้งในส่วนของกระทรวงการคลัง ระบบธนาคารกลางสหรัฐฯ หน่วยงานคุ้มครองผลประโยชน์ของผู้ใช้บริการด้านการเงิน และหน่วยงานกำกับดูแลตลาดโภคภัณฑ์ล้วนได้รับการแต่งตั้งเรียบร้อยแล้วหรือกำลังจะเข้ารับตำแหน่งในไม่ช้านี้

ผู้สังเกตการณ์ในวงการธุรกิจหลายคนเชื่อว่า cryptocurrency หรือเงินดิจิทัลจะเป็นเรื่องหนึ่งที่น่าจับตามองเพราะหน่วยงานของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ กำลังศึกษาเรื่องความเสี่ยงของสินทรัพย์ดิจิทัลเหล่านี้และพิจารณาว่าจะสามารถกำกับควบคุมโดยใช้กฎหมายที่มีอยู่แล้วหรือไม่ ยกตัวอย่างเช่นกำลังมีการพิจารณาว่า stablecoins หรือสินทรัพย์ดิจิทัลที่ถูกอ้างอิงมูลค่าด้วยเงินสกุลใดสกุลหนึ่งหรือสินค้าโภคภัณฑ์บางอย่างนั้นอาจสร้างปัญหาความเสี่ยงให้กับระบบได้และอาจต้องมีการกำกับควบคุมเหมือนการดำเนินงานของธนาคาร เป็นต้น

นอกจากนั้นผู้เล่นรายใหม่ด้านฟินเทคซึ่งเข้ามาทำธุรกิจให้กู้ยืมและบริการชำระเงินแข่งกับธนาคารพาณิชย์เดิมก็กำลังถูกจับตามองด้วยความกังวลว่าระเบียบข้อบังคับซึ่งยังไม่เข้มงวดพออาจทำให้ผู้ใช้บริการด้านการเงินเสียเปรียบได้ และแม้กระทั่งธนาคารพาณิชย์ที่ทำธุรกิจในรูปแบบเดิมนโยบายใหม่ก็จะกำหนดให้ต้องมีความโปร่งใสมากขึ้นและต้องเปิดโอกาสให้ผู้ใช้บริการเข้าถึงข้อมูลด้านการเงินของธนาคารเหล่านี้ได้ รวมทั้งมีการควบคุมเรื่องการเชื่อมโยงธุรกิจของธนาคารต่างๆ เพื่อส่งเสริมการแข่งขันในตลาดด้วยเช่นกัน

วาระที่น่าสนใจอีกเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับนโยบายด้านการเงินซึ่งเกี่ยวโยงกับนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของประธานาธิบดีไบเดนนั้นคือการกำหนดให้บริษัทมหาชนต่างๆ ต้องเปิดเผยความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก โดยคณะกรรมการหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐฯ หรือ SEC กำลังยกร่างกฎเกณฑ์เรื่องนี้ซึ่งจะเป็นผลให้สาธารณชนและนักลงทุนสามารถเข้าไปตรวจสอบการทำงานของบริษัทเหล่านี้ได้มากขึ้น

นอกจากนั้นหน่วยงานของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ชื่อ Office of the Comptroller of the Currency ซึ่งมีหน้าที่หลักในการกำกับดูแลสถาบันการเงินในสหรัฐฯ ยังจะกำหนดกฏเกณฑ์ที่เข้มงวดมากขึ้นเกี่ยวกับการปล่อยเงินกู้ซึ่งมีผลกระทบต่อสภาวะโลกร้อน รวมทั้งจะกำหนดให้ธนาคารต้องรวมเรื่องการพิจารณาความเสี่ยงเกี่ยวกับสภาพอากาศปรวนแปรเข้าอยู่ในทุกแง่มุมของการดำเนินธุรกิจด้วยเช่นกัน

(ที่มา: รอยเตอร์)