ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ พบและพูดคุยกับนายกรัฐมนตรีเคียร์ สตาร์เมอร์ แห่งอังกฤษ ที่ทำเนียบขาวในวันศุกร์ เพื่อหารือเรื่องการสนับสนุนยูเครน และบทบาทต่ออิสราเอล
ในการแถลงต่อหน้าสื่อมวลชน ไบเดนขอบคุณสหราชอาณาจักรสำหรับการสนับสนุนยูเครน และกล่าวว่า “สหรัฐฯ มุ่งมั่นที่จะยืนเคียงข้างคุณ และช่วยเหลือยูเครนป้องกันการทำลายล้างจากการรุกรานของรัสเซีย”
สตาร์เมอร์กล่าวว่า “ผมคิดว่าไม่กี่สัปดาห์และไม่กี่เดือนข้างหน้าจะมีความสำคัญอย่างยิ่ง” ต่อความขัดแย้งในยูเครน
การรายงานของสำนักข่าวบีบีซี ระบุว่าไบเดนพูดก่อนจะเริ่มประชุมว่า จะหารือกันในเรื่องการหาทางยุติความขัดแย้งในตะวันออกกลาง โดยจะให้ความสำคัญกับการปล่อยตัวประกันที่ฮามาสจับไป บรรลุข้อตกลงหยุดยิง และเพิ่มการนำส่งความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมเข้าไปในกาซ่า
ไบเดนกล่าวด้วยว่าจะหยิบยกเรื่องภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกมาหารือกัน เพราะไม่มี "ภูมิภาคใดที่จะสำคัญไปกับอนาคตของเรามากไปกว่านี้"
นัดหมายดังกล่าวมีขึ้นในจังหวะที่ชาติพันธมิตรตะวันตกกำลังพิจารณาเรื่องการให้ยูเครนใช้อาวุธพิสัยไกลที่ได้รับจากสหรัฐฯ และอังกฤษยิงเข้าไปในดินแดนของรัสเซีย ซึ่งบ่งชี้จากการพบกันระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ แอนโทนี บลิงเคน และรัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษ เดวิด แลมมี ที่กรุงเคียฟเมื่อต้นสัปดาห์นี้
ประธานาธิบดียูเครน โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ที่เป็นผู้ร้องขอให้สามารถใช้อาวุธพิสัยไกลอย่าง ATACMS ของสหรัฐฯ และจรวด Storm Shadow ของอังกฤษยิงเข้าไปในรัสเซีย กล่าวในวันพุธว่า “อย่างน้อยขอให้พวกเราหวังกับการตัดสินใจที่หนักแน่น สำหรับเรา มันเป็นเรื่องที่สำคัญมากสำหรับวันนี้”
บลิงเคนกล่าวในกรุงเคียฟ ว่ากรุงวอชิงตันได้ปรับตัว และ “จะปรับเปลี่ยนเท่าที่จำเป็น” ในแง่การสนับสนุนยูเครน โดยเป็นไปตามยุทธศาสตร์การรบที่เปลี่ยนไปของรัสเซีย ซึ่งเป็นวาทะในแบบที่กล่าวไปเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาก่อน ก่อนที่ต่อมา รัฐบาลไบเดนจะผ่อนคลายให้ยูเครนยิงอาวุธอเมริกันข้ามแดนเข้าไปในรัสเซีย โดยตั้งข้อแม้ยกเว้นการโจมตีเป้าหมายที่ลึกเข้าไป
อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ลอยด์ ออสติน กล่าวระหว่างประชุมกับรัฐมนตรีกลาโหมของชาติพันธมิตรเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า ยูเครนสามารถใช้อาวุธที่ผลิตเองโจมตีเข้าไปในรัสเซียได้อยู่แล้ว และเขาไม่เชื่อว่า การให้ยูเครนใช้อาวุธพิสัยไกลเข้าโจมตี จะเป็นปัจจัยที่ชี้ขาดผลของสงคราม
เมื่อวันพฤหัสบดี ประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิเมียร์ ปูติน กล่าวว่า การให้ยูเครนใช้อาวุธพิสัยไกลโจมตีได้ หมายความว่า “ประเทศ NATO และสหรัฐฯ และประเทศยุโรปทำสงครามกับรัสเซีย…และหากเป็นเช่นนี้ จงตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงในแก่นสารของความขัดแย้งครั้งนี้ เราจะมีการตัดสินใจอย่างเหมาะสมตามแต่ภัยคุกคามที่สร้างให้แก่เรา”
ในประเด็นสงครามอิสราเอล-ฮามาส ที่ผ่านมาอังกฤษมักมีท่าทีสนับสนุนอิสราเอลในทางเดียวกันกับสหรัฐฯ แต่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว รัฐบาลสตาร์เมอร์ประกาศจะงดส่งออกอาวุธที่จะใช้ในปฏิบัติการทางทหารที่กาซ่าให้กับอิสราเอล หลังพิจารณาว่า ปฏิบัติการดังกล่าวอาจละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ
การตัดสินใจดังกล่าวทำให้ใบอนุญาตส่งออกอาวุธที่กำลังใช้ในกาซ่าราว 30 ฉบับถูกระงับ แต่ในภาพรวม อังกฤษมีใบอนุญาตส่งอาวุธให้อิสราเอลรวมแล้วราว 350 ฉบับ โดยก่อนมีการประกาศจากรัฐบาลมีขึ้นในช่วงที่ประชาชนชุมนุมประท้วงหน้าโรงงานผลิตอาวุธในอังกฤษเป็นเวลาหลายเดือน
ท่าทีของอังกฤษถือว่าเบากว่าชาติตะวันตกอื่น ๆ เช่น เบลเยียม อิตาลี แคนาดา สเปน และเนเธอร์แลนด์ ที่ประกาศระงับการส่งออกอาวุธทั้งหมดให้กับอิสราเอลในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เนื่องจากกังวลว่าอาวุธเหล่านั้นจะถูกนำไปใช้กับพลเรือนปาเลสไตน์
อย่างไรก็ตาม มูลค่าการส่งออกอาวุธอังกฤษไปยังอิสราเอลก็ถือว่าค่อนข้างน้อย ที่ราว 24 ล้านดอลลาร์ในปี 2023
ไบเดนและสตาร์เมอร์พบกันครั้งนี้เป็นครั้งที่สอง นับตั้งแต่นายกฯ อังกฤษขึ้นสู่ตำแหน่งในเดือนกรกฎาคม โดยทั้งคู่จะยืนยันถึง “ความสัมพันธ์พิเศษ” ระหว่างสองชาติที่ดำเนินมาหลายทศวรรษ
- ที่มา: วีโอเอ เอพี