ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ เดินทางถึงกรุงวิลนีอุส ลิทัวเนีย เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดกลุ่มสนธิสัญญาแอตเเลนติกเหนือ หรือ นาโต้ ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 11-12 กรกฎาคมนี้ ทางประธานาธิบดีกิตานัส นาวเซดา แห่งลิทัวเนีย ในฐานะเจ้าภาพการประชุมสุดยอดครั้งนี้ เน้นย้ำถึงความร่วมมือร่วมใจของนาโต้ในการปกป้องพันธมิตรทุกชาติ
ผู้นำลิทัวเนีย กล่าวว่า “ความจริงที่ว่าเรากำลังประชุมอยู่ติดพรมแดนกับผู้รุกราน ส่งสัญญาณอันแข็งแกร่งถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันและแนวทางการแก้ปัญหาของเรา เรามีความเป็นหนึ่งเดียวและจะปกป้องดินแดนของพันธมิตรเราในทุกระเบียดนิ้ว”
ก่อนหน้านี้ ปธน.ไบเดนแวะเยือนกรุงลอนดอนของอังกฤษในช่วงสั้น ๆ เพื่อพบปะหารือกับนายกรัฐมนตรีอังกฤษ ริชี ซูแน็ก และผู้นำสหรัฐฯ กล่าวย้ำถึงความสัมพันธ์กับอังกฤษว่า “แข็งแกร่งดั่งหินผา” ระหว่างการหารือร่วมกับผู้นำอังกฤษ ซึ่งถือเป็นการพบปะกันระหว่างสองผู้นำเป็นครั้งที่ 6 ในช่วง 6 เดือนมานี้
ปธน.ไบเดน กล่าวว่า "เราพบกันมาแล้วที่ซานดิเอโก เบลฟาสต์ ฮิโรชิมา และกรุงวอชิงตัน และเรา(สหรัฐฯ)คงไม่อาจพบปะหารือกับเพื่อนอันชิดใกล้และพันธมิตรอันยิ่งใหญ่ไปกว่านี้แล้ว"
ทว่า การพบกันของผู้นำทั้งสองถูกบดบังด้วยการประกาศใหญ่ของรัฐบาลวอชิงตัน ในการส่งมอบระเบิดลูกปรายให้แก่ยูเครน แม้ว่าประเทศทั่วโลก 123 แห่งรวมทั้งอังกฤษ ได้ลงนามในความตกลงร่วมที่จะไม่ใช้ ไม่ผลิต และไม่ส่งต่อ ตลอดจนไม่สะสมระเบิดลูกปราย เนื่องจากระเบิดชนิดนี้สามารถก่ออันตรายต่อคนจำนวนมาก และอาจทำให้ผู้บริสุทธิ์ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตได้ ขณะที่มีเพียงสหรัฐฯ รัสเซีย และยูเครนไม่อยู่ในกลุ่มประเทศที่ลงนามร่วมกันในข้อตกลงดังกล่าว
SEE ALSO: ไบเดนหารือซูเเน็กชื่นมื่น แม้สองประเทศเห็นต่างเรื่อง 'ระเบิดลูกปราย'แต่ถึงกระนั้น นายกฯ ซูแน็ก แห่งอังกฤษ ยังคงพยายามที่จะแสดงความเป็นหนึ่งเดียวกับสหรัฐฯ ก่อนเวทีประชุมสุดยอดนาโต้ครั้งนี้
นายกฯ อังกฤษ กล่าวว่า “เราขอยืนหยัดในฐานะ 2 พันธมิตรอันมั่นคงที่สุดในกลุ่มนาโต้ และผมทราบว่าเราทุกคนต้องการทำทุกอย่างที่เราทำได้เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงในภูมิภาคยูโร-แอตแลนติก”
ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีอังกฤษยังไม่เคยออกมาสนับสนุนสหรัฐฯ ในเรื่องนี้อย่างเปิดเผย และยังกล่าวในวันเสาร์ว่า อังกฤษ "เป็นประเทศที่ลงนามในอนุสัญญาที่ห้ามการผลิตหรือใช้ระเบิดลูกปราย และขอให้เลี่ยงการใช้" อาวุธชนิดนี้
ซูเเน็กกล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า อังกฤษสนับสนุนยูเครนในการต้านการรุกราน "ที่ผิดกฎหมาย" ของรัสเซีย "แต่เราทำเช่นนั้นโดยการให้รถถังสำหรับการต่อสู้ที่หนัก และอาวุธพิสัยไกลเป็นส่วนใหญ่ และหวังว่า ทุกประเทศสามารถสนับสนุนยูเครนต่อไป"
SEE ALSO: รัฐบาลไบเดนเตรียมส่ง 'ระเบิดลูกปราย' ให้ยูเครนชาติพันธมิตรนาโต้ต่างมองหาสมดุลที่เหมาะสม ระหว่างประเทศที่ต้องการให้ยูเครนเข้าร่วมเป็นพันธมิตรโดยเร็วกว่านี้ ขณะที่อีกฝั่งต่างกังวลว่าการเร่งกระบวนการรับรองการเป็นสมาชิกภาพให้กับรัฐบาลกรุงเคียฟจะหมายความว่านาโต้กำลังทำสงครามกับรัสเซีย
เลขาธิการองค์การนาโต้ เยนส์ สโตลเทนเบิร์ก กล่าวว่า “มันเป็นสิ่งที่พันธมิตรและยูเครนต้องตัดสินใจว่าเมื่อใดจะถึงเวลาที่เหมาะสมที่จะเชิญยูเครนเข้ามาเป็นสมาชิกอย่างเต็มรูปแบบ ภารกิจเร่งด่วนที่สุดในตอนนี้ก็คือการทำให้แน่ใจว่ายูเครนจะได้รับชัยชนะในฐานะประเทศที่มีอธิปไตยและเอกราชในยุโรป เพราะหากปราศจากชัยชนะของยูเครนแล้ว จะไม่มีประเด็นของการเป็นสมาชิกภาพให้ได้หารือกันอีกต่อไป”
ในเวทีประชุมสุดยอดนาโต้ที่ลิทัวเนีย วันที่ 11-12 กรกฎาคมนี้ จะมีวาระเรื่องการเข้าร่วมเป็นสมาชิกนาโต้ของสวีเดนซึ่งยังไม่ได้รับการยอมรับจากฮังการีและตุรกีในตอนนี้ ทางปธน.ไบเดนได้พูดคุยกับประธานาธิบดีเรจิป เทยิป เออร์โดวาน ในวันอาทิตย์ เพื่อโน้มน้าวให้ผู้นำตุรกีเลิกคัดค้านการเข้าร่วมนาโต้ของสวีเดน แต่ยังไม่มีข้อสรุปในเชิงบวกออกมา
ปธน.เออร์โดวาน กล่าวในวันจันทร์ก่อนประชุมสุดยอดนาโต้ว่า “ตุรกีรอคอยที่ประตูของสหภาพยุโรปมากว่า 50 ปีแล้ว และตอนนี้สมาชิกนาโต้เกือบทุกประเทศก็เป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป” และว่าตุรกีพร้อมสนับสนุนสวีเดนให้เข้าร่วมนาโต้ หากสหภาพยุโรปเปิดทางให้ตุรกีเข้าร่วมสหภาพยุโรป
ทั้งนี้ ตุรกีเริ่มต้นการเจรจาเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปมาตั้งแต่ปี 2005 และกระบวนการดังกล่าวชะงักงันไปตั้งแต่ปี 2016 เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับประเด็นด้านประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน
ส่วนทางสวีเดนยื่นสมัครเป็นสมาชิกนาโต้พร้อมกับฟินแลนด์เมื่อปีที่แล้ว หลังรัสเซียส่งทหารรุกรานยูเครน ฟินแลนด์ได้รับการตอบรับเข้าเป็นสมาชิกในเดือนเมษายน
ล่าสุดทางเลขาฯ นาโต้ได้หารือกับปธน.ตุรกีและนายกฯ สวีเดนในวันจันทร์เกี่ยวกับเรื่องนี้ และในที่สุดทางตุรกีก็เห็นชอบให้สวีเดนเดินหน้าเรื่องการเป็นสมาชิกภาพนาโต้ได้ หลังจากเมื่อสัปดาห์ก่อนฮังการีระบุว่าจะไม่ขัดขวางการเป็นสมาชิกนาโต้ของสวีเดน ตามรายงานของรอยเตอร์
- ที่มา: วีโอเอ