ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โจ ไบเดน กล่าวในวันจันทร์ว่า การโจมตีทางไซเบอร์ที่มุ่งเป้าไปที่เครือข่ายท่อส่งน้ำมันรายใหญ่ของสหรัฐฯ นั้นเป็น “การกระทำของอาชญากร” และว่า หน่วยงานต่าง ๆ กำลังเร่งทำงานเพื่อลดผลกระทบที่มีต่อการขนส่งน้ำมันในสหรัฐฯ
ประธานาธิบดีไบเดน ตอบคำถามจากผู้สื่อข่าวระหว่างการแถลงที่ทำเนียบขาว ในกรณีที่ว่าการโจมตีครั้งนี้มีหลักฐานว่าเชื่อมโยงถึงรัสเซียหรือไม่ โดยผู้นำสหรัฐฯ ตอบว่าจนถึงขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานว่ารัสเซียมีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งตนจะพูดคุยหารือกับประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ในประเด็นนี้ด้วย ถึงกระนั้น การที่มีหลักฐานว่าผู้ต้องสงสัยก่อเหตุมีฐานการทำงานอยู่ในรัสเซีย รัฐบาลรัสเซียจึงควรมีส่วนรับผิดชอบในเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน
ทางด้านบริษัทโคโลเนียล ไปป์ไลน์ (Colonial Pipeline) เจ้าของเครือข่ายท่อส่งน้ำมันที่ถูกโจมตี มีแถลงการณ์ในวันจันทร์ว่า คณะทำงานของบริษัทกำลังตรวจสอบและประเมินความเสียหายจากการโจมตีครั้งนี้ และตั้งเป้าว่าจะสามารถให้บริการท่อส่งน้ำมันได้อีกครั้งภายในสัปดาห์นี้
เวลานี้ รัฐบาลสหรัฐฯ และบริษัทโคโลเนียล ไปป์ไลน์ กำลังเร่งทำงานเพื่อให้ท่อขนส่งน้ำมันสามารถกลับมาทำงานได้อีกครั้ง หลังจากถูกลอบโจมตีทางไซเบอร์ด้วยซอฟต์แวร์เรียกค่าไถ่จนทำให้ต้องปิดการทำงานสี่วันติดต่อกัน ตั้งแต่วันศุกร์ที่แล้ว
SEE ALSO: สหรัฐฯ เร่งช่วยเหลือบริษัทท่อส่งน้ำมันรายใหญ่หลังถูกโจมตีทางไซเบอร์
แฮกเกอร์ ‘ดาร์กไซด์’ ลั่นต้องการแค่เงิน
สำนักงานสืบสวนกลางของสหรัฐฯ หรือ FBI ยืนยันในวันจันทร์ว่า กลุ่มแฮกเกอร์ ดาร์กไซด์ (DarkSide) ในรัสเซีย อยู่เบื้องหลังการโจมตีทางไซเบอร์ครั้งนี้ ขณะเดียวกัน กลุ่มดาร์กไซด์ ก็มีแถลงการณ์ในวันจันทร์ว่า “เป้าหมายคือการหาเงินเท่านั้น โดยไม่ได้ต้องการสร้างปัญหาให้แก่สังคม” พร้อมยืนยันว่าไม่มีความเกี่ยวข้องกับการเมือง ไม่ว่ารัฐบาลของประเทศใดก็ตาม
การโจมตีดังกล่าวถือเป็นหนึ่งในการเรียกค่าไถ่ผ่านคอมพิวเตอร์ที่ส่งผลกระทบครั้งใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ และทำให้นักการเมืองอเมริกันหลายคนต้องออกมาเสนอให้มีมาตรการป้องกันโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานด้านพลังงานของสหรัฐฯ จากการถูกโจมตีโดยแฮกเกอร์ต่างชาติ
บริษัทโคโลเนียล ไปป์ไลน์ ขนส่งน้ำมันและเชื้อเพลิงต่าง ๆ ราว 2.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากโรงกลั่นในแถบอ่าวเม็กซิโกไปยังรัฐต่าง ๆ ทางภาคตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐฯ ผ่านเครือข่ายท่อขนส่งน้ำมันความยาว 8,850 กม.
ผู้เชี่ยวชาญด้านตลาดเชื้อเพลิงคาดการณ์ว่า ความติดขัดนี้จะดำเนินต่อไปหลายวัน ขณะที่ราคาน้ำมันในบางรัฐทางภาคตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐฯ เช่น รัฐจอร์เจีย นอร์ธแคโรไลนา และเทนเนสซี เพิ่มขึ้นไปแตะระดับสูงสุดในรอบ 7 ปี
ทำเนียบขาวระบุว่า การทำให้เครือข่ายท่อส่งน้ำมันกลับมาให้บริการได้อีกครั้ง คือภารกิจสำคัญที่สุดในตอนนี้ พร้อมทั้งได้ส่งคณะทำงานเพื่อประเมินความเสียหายและผลกระทบจากเหตุการณ์นี้แล้ว
ด้านกระทรวงคมนาคมสหรัฐฯ ประกาศมาตรการฉุกเฉินเพื่อให้อำนวยความสะดวกในการขนส่งน้ำมันด้วยวิธีการอื่น เช่น ยกเลิกข้อจำกัดของการขนส่งน้ำมันด้วยรถบรรทุกน้ำมันขนาดใหญ่ใน 17 รัฐที่ได้รับผลกระทบ และอาจมีมาตรการอื่น ๆ ตามมา ขณะที่บริษัทผู้ค้าน้ำมันต่างชาติใช้วิธีเช่าเรือบรรทุกน้ำมันจากยุโรปไปยังจุดหมายในสหรัฐฯ แทนการพึ่งพาท่อส่งน้ำมันที่มีปัญหา
ขณะเดียวกัน สนามบินหลายแห่งที่ต้องพึ่งพาท่อส่งน้ำมันนี้สำหรับเป็นเชื้อเพลิงให้แก่เครื่องบิน รวมทั้งสนามบินนานาชาติ ฮาร์ทฟีลด์-แจ็คสัน ในนครแอตแลนต้า รัฐจอร์เจีย กำลังจับตามองเหตุการณ์นี้อย่างใกล้ชิดว่าจะส่งผลกระทบต่อการเดินทางด้วยเครื่องบินในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้หรือไม่