สำนักข่าวเอพีรายงานว่า รัฐบาลประธานาธิบดีโจ ไบเดน จะจัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจขึ้นมาเพื่อจัดการปัญหาที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมและการค้าโลก รวมถึงปัญหาขาดแคลนชิปคอมพิวเตอร์ ตลอดจนอุปสรรคในภาคการก่อสร้าง คมนาคมขนส่งและการเกษตร
เจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐฯ ชี้ว่า จุดประสงค์ของการจัดตั้งหน่วยเฉพาะกิจนี้คือการเพิ่มปริมาณการผลิตภายในประเทศ ลดปัญหาขาดแคลนสินค้าจำเป็น และลดการพึ่งพาคู่แข่งทางการค้าโลก เช่น จีน
คำประกาศนี้มีขึ้นในขณะที่มีการเปิดเผยรายงานการตรวจสอบห่วงโซ่อุปทานสินค้าโลกที่จัดทำขึ้นในช่วง 100 วันที่ผ่านมาในวันอังคาร ซึ่งระบุว่า การระบาดของโควิด-19 ได้เปิดเผยถึงจุดอ่อนในห่วงโซ่อุปทานสินค้าของสหรัฐฯ เช่น ปัญหาขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์ วัตถุดิบในการผลิตสินค้า รวมถึงชิปคอมพิวเตอร์
รายงานยังบอกด้วยว่า การลดความไม่แน่นอนของห่วงโซ่อุปทานถือว่ามีความสำคัญต่อความมั่นคงแห่งชาติ ตลอดจนความมั่นคงทางเศรษฐกิจและความเป็นผู้นำในด้านเทคโนโลยีของสหรัฐฯ
คณะทำงานเฉพาะกิจชุดใหม่นี้จะนำโดยรัฐมนตรีของกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตร และกระทรวงคมนาคม นอกจากนี้ รัฐบาลของนายไบเดนยังประกาศมาตรการต่าง ๆ ที่จะนำมาใช้เพื่อกระตุ้นห่วงโซ่อุปทานสินค้า ดังนี้
- กระทรวงสาธารณสุขและบริการประชาชน จะสร้างเครือข่ายพันธมิตรระหว่างภาครัฐกับเอกชนในการผลิตอุปกรณ์จำเป็นทางการแพทย์และยาสำคัญต่าง ๆ
- กระทรวงพลังงาน จะเปิดเผยร่างต้นแบบการผลิตแบตเตอรีลิเธียม พร้อมกับจัดหาเงินทุน 17,000 ล้านดอลลาร์ สำหรับการผลิตแบตเตอรีรถยนต์ไฟฟ้า
- กระทรวงกิจการภายใน จะจัดให้มีคณะทำงานเพื่อดูแลการผลิตและแปรรูปแร่ธาตุสำคัญต่าง ๆ ในสหรัฐฯ
- กระทรวงพาณิชย์ มีแผนเพิ่มความร่วมมือและการลงทุนในอุตสาหกรรมชิปคอมพิวเตอร์ เพื่อลดการพึ่งพาประเทศอื่น
- กระทรวงแรงงาน จะประกาศให้เงิน 100 ล้านดออลลาร์สำหรับโครงการฝึกฝนผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ
- กระทรวงเกษตร จะลงทุนกว่า 4,000 ล้านดอลลาร์เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งในระบบห่วงโซ่ซัพพลายด้านอาหาร
- สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ จะมุ่งตรวจสอบประเทศคู่แข่งที่ใช้มาตรการการค้าซึ่งไม่เป็นธรรม และบิดเบือนห่วงโซ่อุปทานสินค้าของโลก