‘ไบเดน’ ขอโทษ ‘เซเลนสกี’ ปมงบหนุนยูเครนล่าช้าจนรัสเซียบุกคืบ

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ (ขวา) และประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน (ซ้าย) ขณะหารือทวิภาคีกันในโรงแรมอินเตอร์คอนทิเนนทัล กรุงปารีส วันที่ 7 มิถุนายน 2024 (ที่มา: AFP)

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ กล่าวขอโทษต่อผู้นำยูเครน โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี อย่างเปิดเผยเป็นครั้งแรกในวันศุกร์ กรณีสภาคองเกรสใช้เวลาหลายเดือนกว่าจะอนุมัติงบประมาณช่วยเหลือทางทหารจนทำให้รัสเซียได้เปรียบในสนามรบ

เอพีรายงานว่า ผู้นำสองชาติพบกันที่กรุงปารีส ซึ่งจัดพิธีรำลึกครบรอบ 80 ปีเหตุการณ์ยกพลขึ้นบกที่หาดนอร์มังดี หรือ ดีเดย์ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ในวันพฤหัสบดี โดยเซเลนสกียกย่องการช่วยเหลือจากสหรัฐฯ ว่า “เหมือนกับที่เป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2”

ในวันศุกร์ ไบเดนกล่าวว่า “ผมขอโทษสำหรับเวลาหลายสัปดาห์ที่ไม่สามารถรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในแง่ของงบประมาณ (สนับสนุน)” ซึ่งหมายถึงช่วงเวลาที่กลุ่มสมาชิกสภาคองเกรสสายอนุรักษ์นิยมจากพรรครีพับลิกันไม่ยอมรับรองร่างกฎหมายช่วยเหลือทางทหารมูลค่า 61,000 ล้านดอลลาร์ให้ยูเครน

ในพิธีรำลึกในวันพฤหัสบดี ไบเดนกล่าวว่า การร่วมมือกันของฝ่ายสัมพันธมิตรเพื่อปลดปล่อยยุโรปจากนาซีเยอรมัน กับการช่วยเหลือยูเครนจากการรุกรานของรัสเซียนั้นมีเหตุผลในการกระทำที่เหมือนกัน

เอพีวิเคราะห์ว่า คำขอโทษจากไบเดน ผนวกกับคำร้องจากเซเลนสกีเพื่อขอแรงหนุนอย่างหนักเช่นเดียวกับเมื่อสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นเครื่องบ่งชี้ความเป็นจริงที่ว่าเจตจำนงในการสนับสนุนยูเครนอย่างไม่ลังเลของผู้นำสหรัฐฯ นั้นไม่ได้รับการตอบรับอย่างเต็มที่จากหลายฝ่าย โดยดูได้จากการที่สมาชิกสภาคองเกรสสังกัดพรรครีพับลิกันนั้นไม่ได้แยแสต่อสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ทั้งยังมีเรื่องของอุดมการณ์เรื่องการไม่ยุ่งเกี่ยวกับกิจการนอกประเทศที่ฝังอยู่ในการเมืองอเมริกันด้วย

ยิ่งไปกว่านั้น การเลือกตั้งประธานาธิบดีที่โดนัลด์ ทรัมป์ คาดว่าจะได้เป็นตัวแทนของพรรครีพับลิกัน ก็เป็นอีกสมการที่ทาบทับประเด็นการจัดการปัญหาในยูเครน เพราะตัวทรัมป์เองได้พูดถึงประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน แห่งรัสเซียในทางบวก จนยูเครนเกรงว่า หากทรัมป์ชนะการเลือกตั้งครั้งนี้ ก็จะเรียกร้องให้กรุงเคียฟยอมเสียดินแดนเพื่อแลกกับการยุติความขัดแย้งกับรัสเซีย

เซเลนสกีเรียกร้องให้ชาวอเมริกันสนับสนุนยูเครนในการปกป้องตัวเองจากรัสเซีย และแสดงความขอบคุณสมาชิกฝ่ายนิติบัญญัติอเมริกันที่ร่วมมือกันอนุมัติความช่วยเหลือทางทหารจนทำให้ยูเครนสามารถรับมือการรุกคืบของรัสเซียได้

ผู้นำยูเครนกล่าวด้วยว่า “จุดที่สำคัญมากที่ในความสามัคคีนี้ ก็คือ การที่สหรัฐฯ (และ)ชาวอเมริกันทุกคนยืนเคียงข้างยูเครนเหมือนอย่างที่เป็นในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2” และกล่าวด้วยว่ายูเครนคาดหวังการเคียงข้างสนับสนุนของสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่อง

สหรัฐฯ คือผู้ ให้การสนับสนุนยูเครนรายใหญ่ที่สุดในสงครามกับรัสเซียครั้งนี้ และในปัจจุบัน กองทัพกรุงเคียฟกำลังพยายามป้องกันการรุกรานอย่างหนักในพื้นที่ตะวันออกของประเทศที่กองทัพรัสเซียมุ่งเป้าโจมตีไปที่เขตปกครองคาร์คิฟและดอแนตสก์ที่ตั้งอยู่ติดกับรัสเซีย

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ยูเครนประเมินว่า รัสเซียอาจจะขยายการโจมตีเพื่อสร้างความได้เปรียบอีก

ปฏิบัติการของรัสเซียครั้งล่าสุดมุ่งหวังจะฉวยโอกาสจากช่วงที่แนวรบด่านหน้าของยูเครนความยาวประมาณ 1,000 กม. กำลังขาดแคลนกระสุน สืบเนื่องจากการจัดส่งความสนับสนุนที่ล่าช้าจากชาติยุโรปและสหรัฐฯ

ทางไบเดนเองก็เคยมีความลังเลที่จะเพิ่มการจัดส่งอาวุธ จากความกลัวว่า จะไปยั่วยุปูตินและส่งผลกระทบต่อความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ-รัสเซียที่มีอยู่เดิม

ไบเดนประกาศในวันศุกร์ว่า จะส่งความช่วยเหลือมูลค่า 225 ล้านดอลลาร์ให้กับยูเครน และเจ้าหน้าที่ของสหรัฐฯ ระบุในวันพฤหัสบดีว่า การนำส่งสิ่งของชุดล่าสุดจะมีกระสุนสำหรับระบบยิงจรวดด้วยปืนใหญ่เคลื่อนที่คล่องตัวสูง หรือ HIMARS รวมถึงระบบปืนครกและเครื่องกระสุนปืนใหญ่อีกหลายชนิดร่วมอยู่ด้วย

เจ้าหน้าที่ทางการรัสเซียกล่าวว่า การโจมตีของยูเครนในพื้นที่ลูฮันสก์ด้วยขีปนาวุธ ATACMS ของสหรัฐฯ สังหารผู้คนไป 3 รายและบาดเจ็บอีก 35 คนในวันศุกร์

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา พันธมิตรชาติสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือ NATO รวมถึงสหรัฐฯ ประกาศให้ยูเครนใช้อาวุธของพวกตนยิงเข้าไปในรัสเซียได้แล้ว แต่ให้เป็นไปอย่างจำกัด โดยรัฐบาลเครมลินตอบโต้ต่อท่าทีดังกล่าวอย่างรุนแรง และเตือนว่า ความขัดแย้งในยุโรปครั้งใหญ่ที่สุดครั้งนี้นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 อาจลุกลามเกินจะควบคุมได้

ในวันพฤหัสบดี ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาคร็อง แห่งฝรั่งเศส ประกาศว่าจะจัดส่งเครื่องบินรบ Mirage ให้กับยูเครน ทั้งนี้ ทั้งสองประเทศได้ลงนามในข้อตกลงทวิภาคีด้านความมั่นคงเป็นระยะเวลา 10 ปี ซึ่งเซเลนสกีก็ได้ลงนามในข้อตกลงลักษณะเดียวกันกับประเทศในยุโรปหลายชาติแล้วเช่นกัน

  • ที่มา: เอพี