'เบอร์นี แซนเดอร์ส' ประกาศตัวชิงเก้าอี้พรรคเดโมแครตเลือกตั้งประธานาธิบดี 2020

FILE - Democratic presidential candidate, Sen. Bernie Sanders, I-Vt, speaks during a campaign rally, May 2, 2016, in Fort Wayne, Ind.

วุฒิสมาชิก เบอร์นี แซนเดอร์ส (Bernie Sanders) ประกาศตัวลงสมัครชิงตำแหน่งตัวแทนพรรคเดโมแแครตในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ สมัยหน้า ในปี ค.ศ. 2020 อีกครั้ง

ส.ว.แซนเดอร์ส เคยลงสมัครมาแล้วในการเลือกตั้ง ปธน. ปี 2016 แต่พ่ายแพ้ให้กับนางฮิลลารี คลินตัน อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ

ในครั้งนั้น นักการเมืองจากรัฐเวอร์มอนต์ วัย 77 ปีผู้นี้ ได้รับเสียงสนับสนุนล้นหลามจากบรรดาคนรุ่นใหม่ จากนโยบายเรียนฟรีในระดัมหาวิทยาลัย รวมทั้งการเพิ่มบทบาทของรัฐบาลกลางในการจัดหาประกันสุขภาพให้กับประชาชน

ส.ว.แซนเดอร์ส ประกาศการลงสมัครในช่วงเช้าวันอังคารตามเวลาในสหรัฐฯ ในอีเมล์ที่ส่งให้กับผู้สนับสนุนเขา โดยขอให้มีการลงชื่อของผู้สนับสนุนจำนวน 1 ล้านคน เพื่อช่วยเปิดตัวกระแสการเคลื่อนไหวในระดับรากหญ้าเพื่อต่อต้านความไม่ถูกต้องในสังคมที่เกิดจากการบริหารงานขิงประธานาธิบดีทรัมป์

ในตอนหนึ่งของอีเมลล์ ส.ว.แซนเดอร์ส ระบุว่า "ปธน.ทรัมป์ คือประธานาธิบดีที่อันตรายที่สุดในประวัติศาสตร์อเมริกันสมัยใหม่ และเรากำลังลงต่อสู้กับประธานาธิบดีที่โกหกหลอกลวง ฉ้อฉล เหยียดผิว เหยียดเพศ กีดกันชาวต่างชาติ และกำลังบ่อนทำลายประชาธิปไตยของอเมริกา"

ส.ว.แซนเดอร์ส ยังประกาศการลงสมัครครั้งนี้ทางวิดีโอที่เปิดตัวทาง YouTube ในวันอังคารด้วย

ก่อนหน้านี้ มีนักการเมืองจากพรรคเดโมแครตที่ประกาศตัวลงสมัครเลือกตั้งชิงตำแหน่งตัวแทนพรรคแล้วหลายคน รวมทั้ง ส.ว.อลิซาเบ็ธ วอร์เรน (Elizabeth Warren), ส.ว. โครี บุคเกอร์ (Cory Booker), ส.ว.เอมี โคลบุชาร์ (Amy Klobuchar), ส.ว.คริสเทน จิลลิแบรนด์ (Kristen Gillibrand) และ ส.ว.คามาลา แฮร์ริส (Kamala Harris)

นักวิเคราะห์ด้านการเมืองต่างให้ความเห็นว่า แม้ผู้สมัครชิงตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ จากฝั่งเดโมแครตที่ประกาศลงชิงชัยในช่วงที่ผ่านมา จะมีความหลากหลายทางเชื้อชาติและฐานเสียง แต่ทั้งหมดมีจุดร่วมเชิงนโยบายที่คล้ายคลึงกัน ในแนวคิดแบบเสรีนิยมด้านเศรษฐกิจ ประเด็นด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม

ในขณะที่เป้าหมายสำคัญของฐานเสียงของเดโมแครต คือ การเลือกผู้สมัครที่สามารถเอาชนะประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนปัจจุบัน โดนัลด์ ทรัมป์ได้