การมีคนใกล้ชิดนอนข้างตัวอาจเป็นผลดีต่อสุขภาพและจิตใจ

พ.ญ. Rachel E. Salas แห่งศูนย์ศึกษาการนอนของโรงพยาบาล John Hopkins ชี้ว่า คนในครอบครัวนอนร่วมเตียงเดียวกันมาตั้งแต่ยุคโบราณแล้วเพื่อช่วยสร้างความอบอุ่นของร่างกายและเพื่อป้องกันอันตรายจากสัตว์ร้ายหรือศัตรู ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่คนในยุคปัจจุบันจะรู้สึกมั่นคงและปลอดภัยกว่าเมื่อรู้ว่ามีคนใกล้ชิดนอนอยู่เคียงข้างตัว ผู้เชี่ยวชาญชี้ด้วยว่าการสัมผัสหรือโอบกอดระหว่างการนอนทำให้ร่างกายปล่อยฮอร์โมน Oxytocin หรือที่เรียกว่าฮอร์โมนแห่งความรักออกมา และฮอร์โมนนี้มีผลในการช่วยผ่อนคลายความเครียด ลดความดันโลหิต ส่งเสริมกระบวนการซ่อมแซมของร่างกาย รวมทั้งช่วยให้เกิดความรู้สึกรัก ผูกพัน และมีความมั่นคงของจิตใจด้วย อย่างไรก็ตามผลการศึกษาชิ้นหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้แสดงถึงความสัมพัน์ระหว่างคุณภาพของการนอน กับปฏิสัมพันธ์ระหว่างคู่สมรสที่มีลักษณะสวนทางกันระหว่างสองเพศ คือสำหรับในเพศชายแล้วหากการนอนช่วงกลางคืนเป็นไปได้ดีและมีคุณภาพ เรื่องนี้ก็จะมีผลช่วยให้ปฏิสัมพันธ์ระหว่างคู่สมรสในช่วงวันถัดไปเป็นไปอย่างราบรื่น แต่สำหรับในเพศหญิง หากความสัมพันธ์กับคู่สมรสในช่วงกลางวันเป็นไปได้ดีไม่มีปัญหา เรื่องนี้ก็จะช่วยให้ฝ่ายหญิงนอนหลับได้ดีอย่างมีคุณภาพในคืนนั้น