เมื่อวันที่ 28 สิงหาคมที่ผ่านมา กองทัพเรืออเมริกันส่งเรือรบ 2 ลำ แล่นผ่านน่านน้ำในทะเลจีนใต้ในบริเวณที่ใกล้กับประเทศจีน ซึ่งทางรัฐบาลสหรัฐฯ กล่าวว่า เป็นการลาดตระเวนที่มีเป้าหมายเพื่อแสดงเสรีภาพในการเดินเรือผ่านเส้นทางยุทธศาสตร์ในอินโดแปซิฟิก
ในวันต่อมา รอยเตอร์ สอบถามความเห็นเกี่ยวกับประเด็นนี้ไปยังโฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน จ้าว ลี่เจี้ยน ซึ่งตอบกลับว่า กองทัพจีนได้ “ตรวจจับทุกความเคลื่อนไหวของเรือรบทั้งสองลำของสหรัฐฯ แล้วและสามารถควบคุมสถานการณ์ทุกอย่างไว้ได้ด้วย”
โฆษกของทางการจีนระบุด้วยว่า “เรือรบของสหรัฐฯ มักจะพยายามแสดงแสนยานุภาพ โดยอ้างว่าเป็นการทดสอบการเดินเรือแบบเสรี…แต่สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่การทำให้ (น่านน้ำของ) บริเวณดังกล่าวเปิดกว้างอย่างเสรี แต่กลับเป็นความแข็งกร้าวที่เอื้อต่อการ ‘เสรีภาพในการรุกล้ำ’ ซ้ำยังถือว่า เป็นการบ่อนทำลายความสงบและความมั่นคงของภูมิภาคอีกด้วย”
ฝ่ายตรวจสอบข่าวสารของสำนักข่าววีโอเอ Polygraph พบว่า ข้อกล่าวหาข้างต้นของ โฆษกคนดังกล่าวเป็น ความเท็จ เพราะในอดีตที่ผ่านมา ทางการจีนได้ทำการอ้างกรรมสิทธิ์ในบริเวณทะเลจีนใต้หลายครั้ง แม้พื้นที่ดังกล่าวจะเป็นบริเวณที่ทับซ้อนกับหลายประเทศในเอเชีย ซ้ำจีนยังข่มขู่ประเทศเหล่านั้นด้วยการกระทำที่แข็งกร้าวต่าง ๆ อีกมากมาย
ดังนั้น การเดินเรือของกองทัพเรือสหรัฐฯ จึงถือเป็นการปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศเพราะเรือของสหรัฐฯ ได้แล่นผ่านบริเวณช่องแคบซึ่งเป็นน่านน้ำที่ไม่ได้เป็นของประเทศใดประเทศหนึ่ง และกองทัพเรือสหรัฐฯ จะดำเนินปฏิบัติการต่อไปในบริเวณใดก็ตามที่กฎหมายระหว่างประเทศอนุญาต
ทางการจีนพยายามควบคุมการเดินเรือในทะเลจีนใต้ ด้วยการอ้างเส้นไข่ปลาเก้าจุดบนแผนที่เพื่อสนับสนุนอธิปไตยของตน แต่อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล (U.N. Convention on the Law of the Sea - UNCLOS) ได้กำหนดพื้นที่ของทะเลอาณาเขต (territorial waters) ของประเทศที่มีชายฝั่ง เช่น จีน ฟิลิปปินส์ หรือ อินโดนีเซีย ไว้อย่างชัดเจนแล้ว โดยเฉพาะของจีน ที่ระบุว่ามีความกว้าง 12 ไมล์ทะเลนับจากเส้นฐานหรือจุดบ่งชี้ระดับน้ำต่ำ
นอกจากจากนี้ มาตราที่ 19 ของ UNCLOS ที่พูดถึงสิทธิการเดินเรือโดยสุจริต อนุญาตให้ เรือต่างชาติ รวมทั้ง เรือของกองทัพ แล่นผ่านพื้นที่ทะเลอาณาเขตของรัฐชายฝั่งได้ ตราบใดที่การเดินเรือข้างต้น “ไม่เป็นการเสื่อมเสียต่อสันติภาพ ความสงบเรียบร้อย หรือความมั่นคงต่อรัฐชายฝั่ง”
นอกเหนือจากการเดินเรือแล้ว กรรมสิทธิ์เรื่องอาณาเขตน่านน้ำก็เป็นประเด็นสำคัญ เพราะจีนอ้างกรรมสิทธิ์เหนือพื้นที่เกือบทั้งหมดของทะเลจีนใต้ และอ้างกรรมสิทธิ์ทับซ้อนเหนือพื้นที่เหล่านี้ ด้วยการขยายกำลังทหาร การก่อสร้างเกาะเทียม ฐานทัพ และลานจอดเครื่องบิน ทั่วบริเวณทะเลดังกล่าว
ในปี 2016 หลังประเทศฟิลิปปินส์ได้ยื่นเรื่องฟ้องร้องต่อศาลโลกเกี่ยวกับการที่จีนถืออ้างกรรมสิทธิ์ทัพน่านน้ำของตน คณะอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศที่กรุงเฮก ได้มีคำตัดสินได้ออกมาว่า จีนไม่มีสิทธิ์กล่าวอ้างกรรมสิทธิ์เหนืออาณาเขตของทะเลจีนใต้ดังว่า
อย่างไรก็ดี จีนเพิกเฉยต่อคำตัดสินนี้และยังคงเดินหน้าขยายอำนาจเพื่อควบคุมพื้นที่ในทะเลจีนใต้อย่างต่อเนื่อง และยังมีการกลั่นแกล้งประเทศเพื่อนบ้านที่คัดค้านการกระทำของจีนหลายครั้ง โดยเฉพาะในกรณีของ “การรุกล้ำ” เพราะจีนได้อ้างกรรมสิทธิ์และล่วงเข้าไปในบริเวณเขตเศรษฐกิจของน่านน้ำของประเทศชายฝั่งซึ่งมีความยาวถึง 200 ไมล์ทะเลจากเส้นฐานของรัฐชายฝั่งนั้น ๆ และภายในเขตเศรษฐกิจดังกล่าว รัฐชายฝั่งมีสิทธิเหนือทรัพยากรธรรมชาติทั้งหมด
บางประเทศ เช่น มาเลเซีย พยายามจะใช้วิธี “การทูตแบบเงียบ ๆ” เพื่อเจรจาถึงข้อพิพาทกับจีน แต่กลับไม่เกิดประโยชน์ เพราะเมื่อเดือนมิถุนายนปีที่ผ่านมา กองทัพจีนได้ส่งเครื่องบินรบเข้าน่านฟ้าของมาเลเซียในบริเวณรัฐซาราวักซึ่งตั้งอยู่บนเกาะบอร์เนียวที่อยู่ในทะเลจีนใต้ ส่งผลให้เกิดการประท้วงขึ้น
ส่วนอินโดนีเซียได้พยายามไม่ทำให้ทางการจีนไม่พอใจ จึงเลือกที่จะยืนมองอยู่ห่าง ๆ และไม่เข้าร่วมเจรจาเรื่องข้อพิพาทในกรณีทะเลจีนใต้ อย่างไรก็ดี ช่วงต้นเดือนที่ผ่าน เหล่าทหารราว 5,000 นายจากสหรัฐฯ อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ได้ร่วมซ้อมรบในบริเวณเกาะสุมาตราของอินโดนีเซีย
สำหรับเวียดนาม ความขัดแย้งระหว่างจีนในบริเวณหมู่เกาะพาราแซล (Paracel) ได้ทำให้เกิดการปะทะกันระหว่างสองฝ่ายและทำให้เรือประมงของเวียดนามล่มลง
ทางด้านฟิลิปปินส์ที่ไม่ต้องการประกาศสงครามกับจีนเพราะข้อพิพาททางทะเลจีนได้ทำการซ้อมรบที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์กับสหรัฐฯ เมื่อช่วงต้นปีนี้ ท่ามสภาวะที่ความขัดแย้งระหว่างจีนกับไต้หวันที่พุ่งขึ้นสูงในภูมิภาค
และเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ผู้บัญชาการกองทัพเรือสหรัฐฯ นายหนึ่งได้เผยกับสำนักข่าวเอพีว่า ทางการจีนได้ทำการติดอาวุธให้กับเกาะอย่างน้อยสามเกาะ โดยมีการติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ เน ระบบขีปนาวุธต่อต้านเรือรบและเครื่องบินรบ เครื่องยิงเลเซอร์ อุปกรณ์ก่อก่วนสัญญาณ และเครื่องบินรบ เป็นต้น พร้อมระบุว่า การกระทำข้างต้นของจีนถือ “เป็นการเตรียมการทางทหารที่ใหญ่ที่สุด นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองเลยทีเดียว”
- ที่มา: วีโอเอ