Your browser doesn’t support HTML5
รายงานเกี่ยวกับผลการศึกษานี้ได้ตีพิมพ์ในวารสาร The Journal of Pediatrics ไปเมื่อเร็วๆ นี้ และทีมนักวิจัยจากภาควิชาการสาธารณสุข มหาวิทยาลัย Ohio State University ชี้ว่า การให้เด็กเล็กเข้านอนหลังสามทุ่ม จะเพิ่มโอกาสเสี่ยงให้เด็กเป็นโรคอ้วนเพิ่มขึ้นถึงสองเท่าตัวเมื่อโตขึ้น
คุณ Sarah Anderson ผู้ร่างรายงานผลการศึกษา และผู้เชี่ยวชาญแห่งมหาวิทยาลัย Ohio State University กล่าวว่า ผลการศึกษานี้ช่วยเน้นถึงความสำคัญในการสร้างนิสัยการเข้านอนตามเวลาแก่ลูก
คุณ Anderson กล่าวว่า ผลการศึกษาเน้นถึงผลดีต่อสุขภาพของเด็กจากการเข้านอนแต่หัวค่ำ ผลดีต่อพฤติกรรมและทางการพัฒนาทางสังคม อารมณ์และความคิดอ่าน แล้วยังช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคอ้วนอีกด้วย
สำนักงานควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐฯ (Centers for Disease Control and Prevention) รายงานว่ามีเด็กจำนวนมากขึ้นในสหรัฐฯ ที่มีปัญหาน้ำหนักตัวเกิน ซึ่งสร้างความกังวลว่าจะกลายเป็นต้นเหตุของปัญหาสุขภาพหลายอย่างตามมา เด็กและผู้ใหญ่ตอนต้นในสหรัฐฯ อย่างน้อย 17 เปอร์เซ็นต์ หรือราว 12 ล้าน 7 เเสนคนทั่วประเทศถือว่ามีน้ำหนักตัวเกิน
ในการศึกษาครั้งนี้ ทีมนักวิจัยใช้ข้อมูลเกี่ยวกับเด็ก 977 คนจากโครงการศึกษาการดูแลและการพัฒนาเด็กเล็กก่อนวัยเรียนและเด็กวัยรุ่น (Study of Early Child Care and Youth Development) ที่ติดตามศึกษาสุขภาพของเด็กทารกที่เเข็งเเรงดี ซึ่งเกิดในปี ค.ศ. 1991 ใน 10 รัฐทั่วสหรัฐฯ
เเละเมื่อเด็กในการศึกษาเหล่านี้อายุ 4 ขวบครึ่ง เด็กๆ ถูกเเบ่งออกเป็นสามกลุ่ม กลุ่มเเรกเข้านอนตอนก่อนสองทุ่ม กลุ่มที่สองเข้านอนตอนระหว่างสองทุ่มและสามทุ่ม ส่วนกลุ่มสุดท้ายเข้านอนหลังสามทุ่มไปแล้ว
และเมื่อเด็กๆในการศึกษาเหล่านี้อายุครบ 15 ปี ทีมนักวิจัยได้ติดตามดูอัตราการเกิดปัญหาโรคอ้วน
ทีมนักวิจัยพบว่าสำหรับเด็กที่เข้านอนเร็ว เพียงหนึ่งใน 10 ของเด็กเหล่านี้กลายเป็นเด็กอ้วนเมื่อเทียบกับ 16 เปอร์เซ็นต์ของกลุ่มเด็กที่เข้านอนระหว่างสองถึงสามทุ่ม และเด็กที่เข้านอนดึกกลายเป็นเด็กน้ำหนักตัวเกินถึง 23 เปอร์เซ็นต์
ทีมนักวิจัยชี้ว่า ครึ่งหนึ่งของเด็กในโครงการศึกษานี้ เป็นกลุ่มเด็กที่เข้านอนระหว่างสองถึงสามทุ่ม ส่วนอีกครึ่งหนึ่งที่เหลือประกอบด้วยเด็กสองกลุ่มจำนวนเท่ากัน กลุ่มแรกเข้านอนก่อนสองทุ่มและอีกกลุ่มหนึ่งเข้านอนดึกกว่าสามทุ่ม
คุณ Anderson กล่าวว่าการให้เด็กเล็กเข้านอนเเต่หัวค่ำไม่ได้หมายความว่าเด็กจะผลอยนอนหลับทันที แต่การเข้านอนเเต่หัวค่ำจะช่วยให้เด็กได้พักผ่อนอย่างเต็มที่และมีอารมณ์เเจ่มใสในวันใหม่
เธอกล่าวว่า สำหรับบางครอบครัว การพาลูกเข้านอนเเต่หัวค่ำอาจจะทำได้ยากเพราะแต่ละครอบครัวมีวิถีชีวิตและความจำเป็นไม่เหมือนกัน ดังนั้น หากคุณต้องทำงานจนเลยเวลา ลูกๆก็จะต้องนอนดึกตามไปด้วย
จึงอาจจะต้องปรับตารางเวลาของชีวิตให้เอื้ออำนวยต่อการพาลูกเล็กก่อนวัยเรียนเข้านอนเเต่หัวค่ำ
(รายงานโดย VOA News เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)