Your browser doesn’t support HTML5
นักวิจัยจากอังกฤษพบว่า “มังกรเครา” ที่เพาะเลี้ยงและฟักไข่ในที่เย็น จะมีความสามารถในการเรียนรู้และปรับตัวได้ดีกว่า “มังกรเครา” ที่ฟักตัวในอุณหภูมิสูงกว่า
นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยลินคอร์น หรือ University of Lincoln ในอังกฤษ ทำการทดลองด้วยการทดสอบความสามารถของ ‘Bearded Dragon’ หรือ มังกรเครา ซึ่งเป็นสัตว์เลื้อยคลานจำพวกกิ้งก่ายักษ์ มาทดสอบถึงการเรียนรู้ การปรับตัว รวมทั้งกระบวนการคิดของพวกมัน
นักวิจัยทดสอบกับ ‘มังกรเครา’ 2 กลุ่ม ที่ผ่านการเพาะเลี้ยงและฟักไข่ในตู้ทดลองอุณหภูมิเฉลี่ย 30 องศา และ 27 องศาเซลเซียส ก่อนจะเลี้ยงดูจนเติบโตเต็มที่ พบว่ามังกรเครากลุ่มที่อยู่ในสภาพแวดล้อมการฟักไข่ในสภาพอุณหภูมิที่เย็นกว่าจะสามารถเรียนรู้ทักษะและปรับกระบวนการคิดได้เร็วกว่าอีกกลุ่มที่อยู่ในอุณหภูมิอุ่นกว่าอย่างมีนัยสำคัญ
วิธีการก็คือ นักวิจัยจะทดสอบการเรียนรู้ของเจ้า มังกรเครา ด้วยการจะให้แต่ละตัวได้ดูวีดิโอ มังกรเคราตัวอื่นที่สามารถเปิดประตูสไลด์ได้เองเพื่อเข้าไปกินอาหารที่วางล่อใจได้สำเร็จ
หลังจากนั้นจะปล่อยให้พวกมันเข้าสู่กล่องทดสอบที่มีประตูสไลด์ และให้เวลา 5 นาทีเพื่อให้เจ้ามังกรเคราเปิดประตูด้วยตัวเองเพื่อเข้าไปกินอาหารเป็นรางวัล
Your browser doesn’t support HTML5
ผลการวิจัยที่เผยแพร่ในวารสารด้านวิทยาศาสตร์ Royal Society ระบุว่า หลังการทดลองกับกลุ่มมังกรเคราโตเต็มวัย 10 ครั้ง พบว่า กลุ่มกิ้งก่ายักษ์ที่ผ่านการฟักไข่ในสภาพแวดล้อมที่เย็นกว่า สามารถผ่านด่านประตูสไลด์เข้าไปกินอาหารได้รวดเร็วกว่ากลุ่มที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่อุณหภูมิร้อนกว่าได้อย่างเห็นได้ชัด
ดร.แอนนา วิลกินสัน (Anna Wilkinson) นักวิชาการด้านวิทยาศาสตร์สิ่งมีชีวิตจากมหาวิทยาลัยลินคอร์น บอกว่า การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิสิ่งแวดล้อมน่าจะส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมของสัตว์อย่างลึกซึ้งและยาวนาน และสภาพแวดล้อมจะเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อสิ่งมีชีวิตทั่วโลกที่จะต้องเผชิญความท้าทายต่างๆ
นอกจากนี้ยังพบว่าปฏิกิริยาการตอบสนองครั้งแรกๆ ของสัตว์ ต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม จะส่งผลต่อพฤติกรรมของสัตว์นั้นๆ ทั้งด้านความสามารถในการคิด ที่นำไปสู่การปรับตัว รวมทั้งกระบวนการรับรู้ การจดจำ จากการรับข้อมูลต่างๆ
ยิ่งไปกว่านั้น นักวิจัยบอกว่า การค้นคว้าครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า สภาพแวดล้อมระหว่างการฟักตัวตั้งแต่อยู่ในไข่นั้น ส่งผลต่อกระบวนการเรียนรู้ทางสังคมของมังกรเครา ต่อเนื่องไปจนถึงในวัยที่พวกมันเติบโตเต็มที่ เพราะเห็นได้ชัดว่ากลุ่มที่อยู่ในอุณหภูมิเย็นกว่าตั้งแต่ยังไม่ลืมตาดูโลก มีปฏิกิริยาการแก้โจทย์ได้รวดเร็วกว่ากลุ่มที่ที่อยู่ในอุณหภูมิอุ่นกว่า
และที่น่าสนใจก็คือว่า สภาพแวดล้อมหรืออุณหภูมิในช่วงการฟักไข่ อาจเป็นตัวกำหนดคุณสมบัติในการปรับตัวของสัตว์ตั้งแต่แรกเกิดได้ เช่นกรณีนี้ที่พบว่าสภาพแวดล้อมที่เย็นช่วยให้สัตว์ที่เกิดมามีการปรับตัวต่อการดำรงชีวิตได้ดีกว่ากลุ่มที่มาจากสภาพแวดล้อมที่ร้อนกว่า
Harry Siviter จากมหาวิทยาลัยลอนดอน หนึ่งในคณะนักวิจัยที่ศึกษาเรื่องนี้ ตั้งข้อสังเกตว่า ความสามารถด้านการเรียนรู้ของเจ้ากิ้งก่ายักษ์ที่ค่อนข้างยืดหยุ่นปรับตัวได้เป็นอย่างดี น่าทำให้พวกมันสามารถปรับเข้าสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงได้ดีเช่นกัน และอาจจะนำมาใช้ได้กับมนุษย์ในยามที่เราต้องเผชิญกับสภาวะสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไปในอนาคต
แต่นักวิจัยทิ้งท้ายไว้ว่า หากสภาพแวดล้อมมีการเปลี่ยนที่รวดเร็วเกินไป เจ้ามังกรเคราก็ไม่สามารถปรับตัวได้เร็วมากพอและอาจส่งผลร้ายต่อการดำรงชีวิตต่อไปได้เช่นกัน