รัฐบาลบาห์เรนหันมาใช้ Facebook ไล่ล่าจับกุมผู้ประท้วงรัฐบาล รวมทั้งก่อให้เกิดความแตกแยกในสังคมมากยิ่งขึ้นไปอีก

  • Phillip Wellman
    Nittaya Maphungphong

รัฐบาลบาห์เรนหันมาใช้ Facebook ไล่ล่าจับกุมผู้ประท้วงรัฐบาล รวมทั้งก่อให้เกิดความแตกแยกในสังคมมากยิ่งขึ้นไปอีก

ชาวบาห์เรนอาศัยใช้เว็บไซต์ในการนัดหมายการชุมนุมประท้วงรัฐบาล โดยเฉพาะเว็บไซต์ที่เป็นสื่อสังคม เช่น Facebook ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าใช้ได้ผลในอียิปต์ แต่เวลานี้ชาวบาห์เรนที่ยังต่อต้านรัฐบาลอยู่ พบว่า การใช้สื่อสังคมที่สะดวก รวดเร็วนี้ เป็นมีดสองคม เพราะรัฐบาลก็หันมาร่วมใช้ด้วยอย่างได้ผลในการไล่ล่าจับกุมผู้ประท้วง

Arab Spring ศัพท์สำนวนที่ใช้เรียกการประท้วงที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในอียิปต์และทูนิเชีย ยังช่วยบันดาลใจให้ประชาชนในหลายประเทศในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในประเทศของตนด้วย บาห์เรน รัฐอาหรับในอ่าวเปอร์เชีย รวมอยู่ในกลุ่มนี้

ชาวบาห์เรนอาศัยใช้เว็บไซต์ในการนัดหมายการชุมนุมประท้วงรัฐบาล โดยเฉพาะเว็บไซต์ที่เป็นสื่อสังคม เช่น Facebook ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าใช้ได้ผลในอียิปต์ ถึงกับเรียกการประท้วงที่ขับไล่ประธานาธิบดี Hosni Mubarak ของอียิปต์ออกจากตำแหน่งได้สำเร็จว่าเป็น “Facebook Revolution”

แต่เวลานี้ชาวบาห์เรนที่ยังต่อต้านรัฐบาลอยู่ พบว่า การใช้สื่อสังคมที่สะดวก รวดเร็วนี้ เป็นมีดสองคม เพราะรัฐบาลก็หันมาร่วมใช้ด้วยอย่างได้ผล

ชาวบาห์เรน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม นิกาย Shi’ite ชุมนุมประท้วงกันที่วงเวียนไข่มุกในกรุง Manama แต่การประท้วงที่เริ่มต้นด้วย “Day of Rage” เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ มิได้ประสบความสำเร็จเหมือนการประท้วงในอียิปต์

รัฐบาลของบาห์เรนดำเนินการปราบปรามผู้ประท้วง โดยได้รับความช่วยเหลือจากรัฐอาหรับด้วยกัน และเวลานี้ หันมาใช้สื่อสังคม เพื่อระบุตัวและลงโทษผู้ที่คัดค้านรัฐบาล

กลุ่มที่ทำงานเพื่อพิทักษ์สิทธิมนุษยชนกล่าวว่า ผู้สนับสนุนฝ่ายที่ค้ดค้านรัฐบาลในบาห์เรนประมาณ 1,000 คนถูกจับไปแล้ว และชาวบาห์เรนจำนวนไม่น้อยบอกว่า ไม่กล้าใช้สื่อสังคมอีกต่อไป

คุณ Abdulnabi Alekry นายกสมาคม Bahrain Transparency กล่าวว่า การที่รัฐบาลใช้สื่อสังคมเพื่อระบุผู้คัดค้านรัฐบาล ทำให้ช่องว่างระหว่างชาว Sunni กับชาว Shi’ite ยิ่งกว้างมากขึ้นไปอีก

นายกสมาคม Bahrain Transparency กล่าวว่า การกระทำของรัฐบาลทำความเสียหายเป็นอย่างมากให้กับความสมานฉันท์ในชาติ ทำให้คนที่ทำงานอยู่ด้วยกัน พำนักอาศัยอยู่ในย่านเดียวกัน หรืออยู่ในสมาคมหรือสโมสรเดียวกัน เกิดความไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน ซึ่งเป็นเรื่องน่าห่วง

ราวๆ 70% ของชาวบาห์เรนเป็นชาว Shi’ite และชาว Shi’ite กล่าวว่า พวกตนถูกปฏิบัติต่อเหมือนกับเป็นพลเมืองชั้นสองโดยชาว Sunni ซึ่งเป็นชนชั้นปกครอง ผู้ประท้วง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาว Shi’ite เรียกร้องให้มีการจัดตั้งรัฐบาลที่มีความเป็นตัวแทนของประชาชนมากขึ้น รวมทั้งให้ร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ด้วย

คุณ S.B. ชาวบาห์เรนผู้หนึ่งซึ่งให้แต่เพียงอักษรย่อแทนชื่อ เพราะกำลังทำงานช่วยเหลือนักศึกษาที่ถูกไล่ออกจากสถาบันการศึกษามากกว่า 100 แห่ง หรือที่ถูกเพิกถอนทุนการศึกษา สืบเนื่องมาจากข้อความใน Facebook ที่ส่งไปให้เพื่อนและตกไปถึงมือคณะกรรมการการสืบสวน บอกว่า เวลานี้ ชาวบาห์เรนและผู้ที่พำนักอาศัยอยู่ในประเทศเป็นจำนวนมาก ไม่กล้าไว้วางใจซึ่งกันและกันอีกต่อไป และว่า

คุณ S.B. บอกว่า คน Shi’ite ที่เธอรู้จัก ส่วนใหญ่ลบชาว Sunni ทั้งหมดออกจากบัญชีสื่อสังคมของตน และในทางกลับกัน ชาว Sunni ส่วนใหญ่ก็ทำอย่างเดียวกัน ตัวเธอเองก็ทำเช่นนั้นด้วย

ไม่ใช่แต่บาห์เรนเท่านั้นที่ใช้สื่อสังคมติดตามไล่ล่าผู้ที่คัดค้านรัฐบาล มีการกล่าวหาว่า กำลังรักษาความมั่นคงของซีเรียก็เข้าไปใน Facebook และ Twitter เพื่อระบุตัวนักกิจกรรมและติดตามดูว่า มีการติดต่อสื่อสารกับใครบ้าง

แต่คุณ Nancy Messieh บรรณาธิการตะวันออกกลางของสื่อออนไลน์ The Next Web เชื่อว่า นักกิจกรรมในตะวันออกกลาง จะยังคงใช้สื่อสังคมต่อไปในการรณรงค์เพื่อเสรีภาพ

บรรณาธิการตะวันออกกลางของ The Next Web บอกว่า แม้ในหมู่ผู้ที่ไม่ใช้สื่อสังคม อย่างในซีเรียขณะนี้ พวกเขารู้ถึงผลที่จะตามมา รู้ว่ากำลังทำอะไร และก็ยังเต็มใจที่จะทำ เพราะฉะนั้น จึงคิดว่า ในหมู่ผู้ที่ใช้สื่อสังคมก็คิดเหมือนกัน เพราะถ้าสื่อสังคมเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งที่จะใช้ได้ พวกเขาก็จะใช้ต่อไป ไม่ว่าจะมีความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน