แบคทีเรียตามธรรมชาติกำลังช่วยทำความสะอาดน้ำมันในอ่าวเม็กซิโก

  • ทรงพจน์ สุภาผล

Oil sheen on water in gulf.

คนงานกำลังเร่งทำความสะอาดคราบน้ำมันในอ่าวเม็กซิโกที่รั่วไหลออกมาเมื่อหลายเดือนก่อนอย่างขะมักเขม้น ในขณะที่นักวิทยาศาสตร์พบว่า จุลินทรีย์ที่มีอยู่ตามธรรมชาติก็กำลังช่วยทำงานอย่างหนักเช่นกัน และก็ทำผลงานได้ดีกว่าที่นักวิทยาศาสตร์คาดกันไว้เสียอีก

ข้อมูลเมื่อเดือนพฤษภาคมและมิถุนายนแสดงให้เห็นว่า จำนวนแบคทีเรียที่กินคาร์บอนเป็นอาหารในบริเวณที่เกิดน้ำมันรั่วกำลังมีจำนวนเพิ่มขึ้น ซึ่งคุณ Terry Hazen หัวหน้าฝ่ายนิเวศน์วิทยาของห้องวิจัยแห่งชาติ Lawrence Berkeley ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ระบุว่าในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา นักวิทยาศาตร์พบว่ามีจุลินทรีย์มากมายในบริเวณน้ำลึกบางแห่งที่น้ำมันรั่ว แต่กลับไม่พบน้ำมันในบริเวณนั้น จึงสันนิษฐานว่าเชื้อจุลินทรีย์ในทะเลอาจจะกินน้ำมันไปหมดแล้วก็เป็นได้

รายงานวิจัยที่เผยแพร่ในวารสารออนไลน์ Science เมื่อวันอังคาร ตรวจสอบกลุ่มก้อนน้ำมันหรือ Oil Plume ใต้ทะเลลึกราว 3,600 ฟุตจากระดับผิวน้ำ เป็นระยะทางราว 6 ไมล์จากจุดที่เกิดน้ำมันรั่ว โดยได้ตรวจสอบตัวอย่างน้ำทะเลจากจุดต่างๆรอบบริเวณนั้นทั้งด้านในและด้านนอกกลุ่มน้ำมัน พบว่าน้ำทะเลด้านนอกกลุ่มก้อนน้ำมันจะมีความหนาแน่นของแบคทีเรียน้อยกว่าด้านในกลุ่มก้อนน้ำมันถึง 100 เท่า และจากการตรวจสอบ DNA ยังพบด้วยว่า แบคทีเรียในจุดที่เกิดกลุ่มก้อนน้ำมันนั้นมียีนของจุลินทรีย์ชนิดที่กินน้ำมันหรือคาร์บอนประกอบอยู่ด้วย ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีสายพันธุ์ใกล้เคียงกับแบคทีเรียที่เรียกว่า Oceanospirillales นักวิทยาศาสตร์ยังบอกด้วยว่าแบคทีเรียในกลุ่มก้อนน้ำมันนั้นกินน้ำมันอย่างรวดเร็วจนน่าตกใจ

อย่างไรก็ตาม อาจจะเป็นการมั่นใจเกินไปหากจะบอกว่าแบคทีเรียเหล่านั้นย่อยสลายคราบน้ำมันไปหมด คุณ Richard Camilli นักสมุทรศาสตร์แห่งสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล Woods Hole ในรัฐแมสซาชูเสตต์ เชื่อว่าอาจมีความเป็นไปได้ที่กลุ่มก้อนน้ำมันใต้ทะเลลึกนั้น ลอยไปที่อื่นหรือเจือจางลงจนไม่สามารถตรวจสอบได้ โดยนักวิจัยผู้นี้ตรวจพบเมื่อเดือนมิถุนายนว่ามีกลุ่มก้อนน้ำมันกลุ่มหนึ่งลอยไปไกลถึง 22 ไมล์จากจุดที่เกิดน้ำมันรั่ว รายงานยังบอกด้วยว่าแบคทีเรียดังกล่าวจะกินสารไฮโดรคาร์บอนในน้ำมันมากกว่าสารประกอบอื่นๆ จึงยังอาจมีสารตกค้างบางส่วนที่ไม่ถูกย่อยสลายไปหรือต้องใช้เวลานานในการย่อยสลาย

คุณ Terry Hazen แห่งห้องวิจัย Lawrence Berkeley หวังว่าจะใช้จุลินทรีย์กินน้ำมันเหล่านั้นในการติดตามน้ำมันที่ลอยกระจัดกระจายไปไกลๆ แม้ว่าวิธีดังกล่าวจะไม่ง่ายนัก เพราะจุลินทรีย์ที่ว่านี้มักจะเติบโตเฉพาะที่เฉพาะจุดจนกว่าจะตายลง ถึงกระนั้นก็ดี นักวิทยาศาตร์เชื่อว่าการศึกษาวงจรชีวิตและจำนวนที่เหมาะสมของจุลินทรีย์ในพื้นที่ที่เกิดน้ำมันรั่วไหล จะช่วยในการคาดการณ์ได้ว่าภารกิจทำความสะอาดน้ำมันในอ่าวเม็กซิโกจะสิ้นสุดลงได้เมื่อไร นอกจากนี้หากทราบว่าเอนไซม์ชนิดใดที่จุลินทรีย์เหล่านั้นใช้ในการย่อยสลายน้ำมัน ก็จะช่วยในการกำจัดคราบน้ำมันหากเกิดการรั่วไหลขึ้นอีกในอนาคต นักวิทยาศาสตร์ผู้นี้สรุปส่งท้ายว่า หากพูดถึงการทำความสะอาดน้ำมันแล้ว ถึงเวลานี้คงไม่มีใครเก่งไปกว่าจุลินทรีย์ชนิดนี้แล้ว