นักวิจัยเร่งปรับจุดบกพร่อง 'ยานยนต์ไร้คนขับ' ให้เป็นนวัตกรรมที่สมบูรณ์แบบ

Your browser doesn’t support HTML5

นักวิจัยเร่งปรับจุดบกพร่องยานยนต์ไร้คนขับให้เป็นนวัตกรรมที่สมบูรณ์แบบ

Your browser doesn’t support HTML5

Autonomous Car

แม้ผลการทดสอบเทคโนโลยีรถยนต์ไร้คนขับบนท้องถนนจะเห็นได้ชัดถึงระบบการเดินทางและเทคโนโลยีนำทางที่ค่อนข้างสมบูรณ์ แต่อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับรถยนต์ไร้คนขับหลายครั้ง พบว่ามีสาเหตุจากการฝ่าสัญญาณไฟจราจร ซึ่งเป็นข้อบกพร่องสำคัญที่นักวิจัยพยายามแก้ไขอย่างเร่งด่วน เพื่อพัฒนาเป็นนวัตกรรมแห่งอนาคตที่สมบูรณ์แบบ

รถยนต์อัตโนมัติไร้คนขับเป็นส่วนหนึ่งของพาหนะที่สัญจรไปมาบนท้องถนนทั้งทางหลวง หรือในเมืองใหญ่ในหลายเมืองของสหรัฐฯ มาแล้วนับล้านๆ ไมล์ จนกลายเป็นความคาดหวังในการเป็นนวัตกรรมแห่งโลกอนาคตที่จะกลายเป็นจริงได้ไม่ยาก

แต่จำนวนอุบัติเหตุที่มีรถอัตโมมัติเข้าไปเกี่ยวข้องบ่อยครั้ง และหนึ่งในนั้นถึงกับเป็นอุบัติเหตุร้ายแรง ทำให้ผู้ใช้รถใช้ถนนและเจ้าหน้าที่ หรือแม้แต่ผู้ผลิตเองกำลังหวาดวิตก

Jonathan Hewett ผู้บริหารบริษัทนวัตกรรม Octo Telematics บอกว่า ผู้ผลิตรถยนต์ต่างต้องการทราบว่า สาเหตุของความบกพร่องเกิดขึ้นจากส่วนไหน ไม่ว่าจะเป็นซอฟแวร์หรือฮาร์ดแวร์ หรือตัวคนขับรวมทั้งลักษณะการเคลื่อนที่ในขณะเกิดอุบัติเหตุ ทั้งในส่วนของรถคู่กรณีและรถอัตโนมัติเอง หรือรถทุกคันที่เข้ามาเกี่ยวข้อง

แม้การทดสอบรถยนต์ไร้คนขับจะเพิ่มมากขึ้น และพัฒนาเทคโนโลยีที่ดีมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งเซนเซอร์ตรวจจับรอบทิศทางที่พัฒนาขึ้นอย่างเชี่ยวชาญ อุปกรณ์ที่สามารถคำนวนความเร็วและระยะห่างจากรถคันอื่นๆ รวมทั้งปฏิกริยาตอบสนองที่ทำได้รวดเร็วกว่ามนุษย์

แต่สิ่งที่เจ้ารถอัจฉริยะไร้คนขับยังขาด ก็คือระดับความคิดแบบปัญญาประดิษฐ์ ที่จะสามารถตอบสนองสถานการณ์เฉพาะหน้าที่อาจจะเกิดขึ้นได้อย่างฉลาดและถูกต้อง

ผู้บริหารบริษัทนวัตกรรม ออคโท เทเลเมติคส์ ย้ำว่า ท้องถนนทุกวันนี้ยากและมีความซับซ้อนมากขึ้น ซึ่งจำเป็นต้องมีข้อมูลและการวิเคราะห์ที่แม่นยำว่าใครทำอะไรเมื่อไหร่ อย่างไร ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นต้องรู้

ขณะที่ปัญหาอีกอย่างก็คือการทำอย่างไรที่จะทำให้ผู้ใช้รถใช้ถนนทั่วไปให้หันมาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการขับ เพื่อใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัยร่วมกับเจ้ารถอัจฉริยะที่ถูกตั้งโปรแกรมให้เข้มงวดในกฎจราจร

Raj Rajkumar ศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และไฟฟ้าจากมหาวิทยาลัยคาร์เนกี้ เมลลอน ยกตัวอย่างว่า หากเราขับรถอัตโนมัติ หรือเจ้ารถขับด้วยตัวเองด้วยความเร็ว 25 ไมล์ต่อชั่วโมง รถคันอื่นๆ ก็มักจะพยายามเร่งแซงขึ้นไป โดยที่ไม่มีใครสนใจว่าเจ้ารถคันนี้จะเข้มงวดขับตามความเร็วที่กำหนด

นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าในปี ค.ศ.2025 หรือ ในอีก 10 ปีข้างหน้า อุตสาหกรรมรถยนต์อัตโนมัติไร้คนขับจะเติบโตมากกว่า 3 ล้านล้านดอลล่าร์ ขณะที่การค้นคว้าเกี่ยวกับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์จะก้าวหน้ามากขึ้น

และเชื่อว่ารถแต่ละคันจะสามารถสื่อสารระหว่างกันได้ ด้วยการพัฒนาโครงสร้างขั้นพื้นฐานและการเรียนรู้จากประสบการณ์ขั้นสูงสุด แม้จะเกิดอุบัติเหตุก็จะสามารถวิเคราะห์ข้อมูลอย่างแม่นยำจากสถานการณ์รอบด้าน เพื่อที่จะสามารถช่วยบริษัทประกันทำงานได้ง่ายขึ้น