นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนเรียกร้องรัฐบาลออสเตรเลียให้ต่อต้านการค้าทาสยุคใหม่

  • ฟิล เมอร์เซ่อร์
    นิตยา มาพึ่งพงศ์

นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนเรียกร้องรัฐบาลออสเตรเลียให้ต่อต้านการค้าทาสยุคใหม่

นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนเรียกร้องให้รัฐบาลออสเตรเลียให้การคุ้มครองป้องกันแรงงานชาวต่างชาติจากการเป็นทาสยุคใหม่ ประเด็นเรื่องนี้เป็นจุดมุ่งเน้นของการประชุมผู้เชี่ยวชาญเรื่องการค้ามนุษย์ ที่นครซิดนี่ย์ บรรดาผู้ที่เป็นนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนเชื่อว่า มีคนเป็นจำนวนมากที่ถูกหลอกให้เดินทางไปออสเตรเลีย โดยเชื่อว่า มีงานดี เงินเดือนสูงและอนาคตที่สดใสรออยู่ แต่เมื่อไปถึงแล้ว มักจะพบว่า ชีวิตในต่างประเทศมีแต่ความทุกข์ยาก

นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนเรียกร้องให้รัฐบาลออสเตรเลียให้การคุ้มครองป้องกันแรงงานชาวต่างชาติจากการเป็นทาสยุคใหม่ ประเด็นเรื่องนี้เป็นจุดมุ่งเน้นของการประชุมผู้เชี่ยวชาญเรื่องการค้ามนุษย์ ซึ่งจัดให้มีขึ้นที่นครซิดนี่ย์ บรรดาผู้ที่เป็นนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนเชื่อว่า มีคนเป็นจำนวนมากที่ถูกหลอกให้เดินทางไปออสเตรเลีย โดยเชื่อว่า มีงานดี เงินเดือนสูงและอนาคตที่สดใสรออยู่

ประเด็นเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ในออสเตรเลียก่อนหน้านี้มักจะเป็นเรื่องของผู้หญิงที่ถูกล่อลวงให้ไปทำงานค้าประเวณี แต่เวลานี้ นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนบอกว่า การบังคับใช้แรงงานมีรูปลักษณะอื่นๆ ซึ่งรวมทั้งงานก่อสร้าง งานบริการตามร้านอาหารและโรงแรม และงานกสิกรรม

ข้อมูลที่เป็นสถิติตัวเลขที่จะนำมายืนยันคำกล่าวอ้างนี้ หาได้ยาก เพราะผู้รับเคราะห์หวั่นกลัวการถูกจับกุมตัว และ/หรือการถูกเนรเทศออกนอกประเทศ ถ้าไปแจ้งความกับทางการตำรวจ

องค์กรการกุศล Salvation Army ประมาณว่า มีคนมากกว่าหนึ่งพันคนถูกนำตัวเข้าไปในออสเตรเลียในแต่ละปี เพื่อให้ไปทำงานในลักษณะที่เรียกได้ว่า เป็นทาสยุคใหม่

Jenny Stangar เจ้าหน้าที่ของ Salvation Army บอกว่า องค์กรมีข้อมูลมากทีเดียวเกี่ยวกับผู้ที่ถูกนำเข้าไปในออสเตรเลีย และถูกบังคับใช้แรงงาน ซึ่งหมายความว่า ถูกข่มขู่ และไม่มีอิสระ จะออกจากงานที่ทำอยู่นั้นไม่ได้

ผู้ที่ตกอยู่ในสภาพเช่นนี้ มีอยู่ในทุกระดับอายุ และไปจากหลายประเทศในเอเชีย รวมทั้งประเทศไทย เกาหลีใต้ และจีน นอกจากนั้นก็มีจากยุโรปตะวันออก และอินเดีย

วิธีหนึ่งที่กลุ่มอาชญากรรมใช้ในการล่อลวงเหยื่อ คือการวาดภาพอนาคตที่สดใส ถ้ายอมเดินทางไปทำงานในออสเตรเลีย แต่ Fiona David ที่ปรึกษาทางด้านการค้ามนุษย์คนหนึ่งขององค์การสหประชาชาติ กล่าวว่า คนเหล่านี้มักจะพบว่า ชีวิตในต่างประเทศมีแต่ความทุกข์ยาก

ที่ปรึกษาของสหประชาชาติผู้นี้บอกว่า ประเด็นสำคัญอันหนึ่งที่พึงจดจำ คือคนเหล่านี้ต้องจ่ายค่าหัวเป็นเงินจำนวนมากให้กับพวกนายหน้าหางาน แต่พบว่าต้องตกเป็นหนี้สินจำนวนมหาศาล ซึ่งเกี่ยวโยงผูกพันถึงครอบครัวด้วย เพราะฉะนั้น การบังคับใช้แรงงาน หรือการข่มขู่นั้น ไม่ได้ใช้กุญแจหรือโซ่ตรวน แต่เป็นการบังคับข่มขู่ในรูปที่ชัดเจนน้อยกว่านั้น

ที่ประชุมผู้เชี่ยวชาญการค้ามนุษย์ในนครซิดนี่ย์ เรียกร้องให้รัฐบาลออสเตรเลีย ศึกษาปัญหาเรื่องนี้ให้ลึกซึ้งมากขึ้น เพื่อจะได้เข้าใจปัญหาและหาทางแก้ไขได้

องค์การสหประชาชาติประมาณว่า เวลานี้ การค้ามนุษย์เป็นอุตสาหกรรมมูลค่าราวๆ 3 หมื่นล้านดอลล่าร์ และมีผู้ถูกนำตัวไปค้าขายทั่วโลกราวๆ 2 ล้านคนต่อปี