Your browser doesn’t support HTML5
“สวนปะการังใต้ทะเล” หรือ “underwater garden” ที่เเสนสวยงามแห่งนี้ ค้นพบโดยทีมนักวิทยาศาสตร์ในออสเตรเลีย และตั้งอยู่ลึกลงไปใต้ทะเลถึง 2 กิโลเมตร นี่เป็นการค้นพบขณะที่ทีมงานออกไปสำรวจท้องทะเลเพื่อการวิจัยนอกชายฝั่งทางใต้ของแทสมาเนีย
ทีมนักวิทยาศาสตร์ได้ใช้กล้องถ่ายภาพพิเศษเพื่อศึกษาภูเขาใต้ทะเล 45 ลูก และพบว่ามีปะการังชนิดใหม่ที่ยังไม่ได้รับการตั้งชื่อมากกว่า 100 ชนิด ตลอดจนกุ้งล็อบสเตอร์กับหอยมอลลัสก์ และระหว่างการสำรวจนี้ ทีมนักวิทยาศาสตร์ยังค้นพบปลาหมึกเรืองเเสง ปลาฉลามน้ำลึกเเละปลาไหล (basketwork eels)
ทีมผู้เชี่ยวชาญใช้เวลาบนเรือ อินเวสติเกเตอร์ (Investigator) ซึ่งเป็นเรือสำรวจเพื่อการวิจัยทางทะเลนานถึง 1 เดือน เเละเป็นงานของสำนักงาน Commonwealth Scientific and Industrial Research Organization หรือ CSIRO ซึ่งเป็นหน่วยงานเอกเทศของรัฐบาลออสเตรเลียที่รับผิดชอบด้านการวิจัยทางวิทยาศาสตร์
ทีมนักวิทยาศาสตร์ดำเนินการสำรวจเทือกเขาใต้ทะเลของแทสมาเนียในบริเวณร่องลึกก้นสมุทรทาสมัน-ฮิวออน (Tasman Fracture and Huon)
ปะการังที่ทีมนักวิทยาศาสตร์ค้นพบเป็นปะการังนิ่ม ซึ่งหมายความว่าเป็นปะการังที่ต่างจากปะการังที่พบในแนวปะการังเขตร้อน
อลัน วิลเลียมส์ (Alan Williams) ผู้เชี่ยวชาญแห่งหน่วยงาน CSIRO แห่งออสเตรเลีย ซึ่งเป็นหัวหน้าทีมนักวิทยาศาสตร์ในการสำรวจนี้ กล่าวว่า น่าทึ่งมากที่ในระดับความลึกขนาดนี้ มีปะการังที่ลักษณะหน้าตาเหมือนกับปะการังที่พบในระดับน้ำที่ทะเลที่ตื้นกว่า เเละในน้ำทะเลเขตร้อน
ภาพที่เห็นบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ของทีมงานบนเรือเป็นภาพที่กล้องถ่ายภาพพิเศษถ่ายได้ เป็นภาพของปะการังที่มีความสวยงาม มีสีสันหลากหลายเเละอุดมสมบูรณ์
ทีมนักวิจัยยังมองเห็นภาพถ่ายหลายภาพที่เเสดงให้เห็นความเสียหายถาวรของใต้ท้องทะเลจากการประมงเเบบอวนลาก และเเม้ว่าการกระมงแบบใช้อวนลากจะถูกห้ามมานานหลายสิบปีเเล้วในออสเตรเลีย แนวปะการังในบริเวณนี้ยังอยู่ระหว่างการฟื้นตัวจากความเสียหาย
บรรดาผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า วงการวิทยาศาสตร์มีความรู้เกี่ยวกับผิวหน้าของดวงจันทร์มากกว่าใต้ทะเลลึก และถึงเเม้ว่าทีมนักวิจัยจะค้นพบ “สวนใต้ทะเล” ที่มีปะการังเเสนสวยงามแห่งนี้ในทางใต้ของแทสมาเนีย นักวิทยาศาสตร์ยังไม่เข้าใจว่าทำไมปะการังที่มีสีสันสดใสเหล่านี้จึงอยู่รอดได้ใต้ทะเลที่มืดสนิทลึกลงไปจากเหนือผิวหน้าของทะเลอย่างมาก
(เรียงเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)