Your browser doesn’t support HTML5
ปะการังส่วนมากจะเเพร่พันธุ์ผ่านการปล่อยไข่เเละเชื้อสเปิร์มสู่น้ำในเวลาเดียวกัน และในทางเหนือของออสเตรเลีย ทีมนักวิทยาศาสตร์กำลังเตรียมตัวออกไปเก็บไข่เเละสเปิร์มของปะการังจำนวนมากที่ลอยอยู่เหนือบริเวณแนวปะการังยักษ์ของออสเตรเลีย เพื่อนำไปเลี้ยงให้เป็นตัวอ่อนปะการัง
และเมื่อลูกปะการังโตพอ ทีมงานจะใช้หุ่นยนต์ใต้น้ำกึ่งบังคับอัตโนมัตินำลูกปะการังไปปลูกตามแนวปะการัง Vlasoff Reef ที่ห่างจากฝั่งของเมืองแคร์สไปหนึ่งชั่วโมงด้วยการเดินทางทางเรือ
ศาสตราจารย์ปีเตอร์ เเฮร์ริสัน ผู้อำนวยการแห่งศูนย์วิจัยระบบนิเวศวิทยาทางทะเล ที่มหาวิทยาลัย Southern Cross กล่าวว่า ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ช่วยสนับสนุนกระบวนการทางธรรมชาติ
เขากล่าวว่า ทีมนักวิทยาศาสตร์กำลังทำหน้าที่เเทนปะการังที่ตายเพราะภาวะกัดขาว ปกติปะการังเหล่านี้จะช่วยสร้างตัวอ่อนได้เพียงพอเเก่แนวปะการังธรรมชาติในการเยียวยาตัวเอง
พื้นที่ส่วนใหญ่ของแนวปะการังยักษ์ออสเตรเลียได้รับความเสียหายจากภาวะกัดขาวที่รุนแรง ภาวะกัดขาวนี้เกิดจากอุณหภูมิของน้ำทะเลที่อุ่นขึ้นเเละภาวะโลกร้อนทำให้ภาวะกัดขาวเลวร้ายมากขึ้น
การทดลองปลูกลูกปะการังเลี้ยงที่แนวปะการัง Vlasoff Reef ซึ่งได้รับความเสียหายรุนแรงจากภาวะกัดขาวที่กินบริเวณกว้าง ได้รับความร่วมมือจากทีมนักดำน้ำที่จะทำหน้าที่เป็นผู้นำทางหุ่นยนต์ใต้น้ำบังคับกึ่งอัตโนมัติที่จะนำลูกปะการังลงไปปลูกในแนวปะการังแห่งนี้
หุ่นยนต์ใต้น้ำนี้มีชื่อว่า LarvalBot
ศาสตราจารย์เเมทธิว ดันบาบินแห่งมหาวิทยาลัย Queensland University of Technology กล่าวว่า โครงการนี้ยังใหม่อยู่และทีมงานต้องทำงานแข่งกับเวลา เพื่อให้เเน่ใจว่าสามารถนำลูกปะการังลงไปปลูกได้อย่างรวดเร็วเท่าที่จะทำได้เพื่ออนุรักษ์แนวปะการังเอาไว้ เเละทีมงานหวังว่าในอนาคต ทีมงานจะทำงานได้รวดเร็วขึ้นเเละคล่องเเคล่วขึ้น
แนวปะการังประกอบไปด้วยสัตว์ขนาดจิ๋วหลายล้านตัว ที่เรียกว่า coral polyps แนวปะการังมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อระบบนิเวศวิทยาเเละเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเลอย่างน้อย 1 ใน 4 ของทั้งหมด
แนวปะการังยักษ์ของออสเตรเลียมีขนาดใหญ่เกือบเท่ากับขนาดของประเทศอิตาลี หรือ ญี่ปุ่น และพบว่ามีวาฬเเละโลมาราว 30 สายพันธุ์อาศัยตามบริเวณแนวปะการังนี้
อย่างไรก็ตาม แนวปะการังยักษ์ของออสเตรเลียเจอกับปัญหาคุกคามหลายอย่าง ตั้งเเต่การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศโลก การประมงเกินพอดี สารเคมีจากการเกษตรที่ไหลลงสู่ทะเล ไปจนถึงปลาดาวหนามที่กินปะการังเป็นอาหาร
(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)